ต้อกระจกและการมองเห็น

ต้อกระจก หรือ Cataract เป็นอีกสิ่งหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามการล่วงโรยของสังขาร เช่นเดียวกับสายตายาวตามวัยทั้งสองมีต้นเหตุเดียวกันคือ เลนส์แก้วตา หรือ Crystalline lens เนื้อเยื่อเลนส์แก้วตาพิเศษกว่าเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ ในร่างกายที่ไม่มีกระบวนการกำจัดตั้งแต่เริ่มสร้าง เนื้อเยื่อนี้จะถูกสร้างขึ้นเป็นชั้นๆ คล้ายหัวหอม มีรูปร่างเหมือนลูกรักบี้วางแนวนอนซ้อนเป็นชั้นๆ จากในสุดศูนย์กลางมานอกสุดที่เปลือก
ต้อกระจกเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อเลนส์แก้วตาที่ปกติจะใส เสื่อมสภาพแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้ม น้ำตาลและขาวขุ่นในที่สุด เราจะเรียกต้อกระจกต่อเมื่อเริ่มมีอาการแสดงขึ้น สาเหตุหลักจะมาจากอายุที่มากขึ้น มีบางส่วนที่เป็นมาแต่กำเนิด และมีบางส่วนที่ได้รับมาจากการใช้ยา

ผลของต้อกระจกทำให้แสงที่ต้องเดินทางผ่านเลนส์แก้วตาที่ขุ่น

- แสงเดินทางผ่านได้ไม่ดี ทำให้จอประสาทตาได้รับแสงที่จะกระตุ้นให้เกิดภาพไม่พอทำให้การมองเห็นแย่ลง

- แสงเมื่อเดินทางมาชนส่วนที่ขุ่นแล้วกระจายออก จะทำให้รู้สึกว่าตาพร่า มัว เพราะแสงไม่มีการโฟกัส

- ต้อกระจกชนิด Nuclear cataract ทำให้เกิดสายตาสั้นชั่วคราวได้ ทำให้สายตายาวตามวัยกลับมาอ่านหนังสือได้และเมื่อมีอาการมากขึ้นก็จะทำการมองเห็นแย่ลง

อาการและอาการแสดงของคนที่เป็นต้อกระจก

- เริ่มจากอายุ 50 ปีขึ้นไป และพบได้ทุกคนหลังอายุ 70 ปี

- มีการมองเห็นที่แย่ลง โดยเฉพาะเมื่อออกที่มีแสงแดด

- ตาไม่สู้แสงแดด เมื่อใส่แว่นตาดำแล้วจะรู้สึกดีขึ้น

- ความรุนแรงของอาการขึ้นกับความขุ่นและตำแหน่ง  ถ้าตรงกลางเลนส์จะทำให้การมองเห็นแย่ลงมาก ถ้าด้านข้างเลนส์จะมีอาการน้อยกว่า

การรักษาสามารถทำการผ่าตัดเอาเลนส์แก้วตาออกทั้งหมด แล้วใส่เลนส์เทียมอันใหม่ได้จะทำให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติ แล้วยังสามารถแก้ไขค่าสายตาได้ในเวลาเดียวกัน