น้ำวุ้นตาเสื่อม

น้ำวุ้นตาเสื่อม หรือ Vitreous degeneration ถือเป็นการเสื่อมตามอายุที่พบได้ในคนปกติและพบใน 65% ของคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามการเสื่อมนั้นอาจจะนำไปสู่โรคจอตาฉีกขาดได้จึงต้องเฝ้าสังเกตความผิดปกติ


น้ำวุ้นตาเป็นองค์ประกอบใหญ่สุดของตา (ประมาณ 80% โดยปริมาตร) ทำหน้าที่หลักในการรักษารูปทรงของดวงตา เป็นแหล่งสารอาหารให้กับเลนส์ตาและกำจัดเชื้อโรค เมื่อตอนเกิดมาน้ำวุ้นตาจะมีองค์ประกอบทั้งหมดเป็นวุ้นใส พออายุ 2-3 ขวบ องค์ประกอบหลัก 90% เป็นน้ำ และ 10% ที่ประกอบด้วยเส้นใยยาวหุ้มด้วยโปรตีน มีสภาพเป็นวุ้น สัดส่วนของวุ้นจะลดลงเรื่อยๆ อย่างคงที่ตามอายุที่เพิ่มขึ้น และประมาณครึ่งๆ ที่อายุประมาณ 90 ปี การเสื่อมของน้ำวุ้นตาเกิดจากเส้นใยหุ้มโปรตีนรวมตัวกัน ทำให้มีขนาดใหญ่และหนาแน่นขึ้น ทำให้สัดส่วนของวุ้นต่อปริมาตรลดลง เกิดสภาวะการน้ำวุ้นหดตัวทำให้เกิดการแยกตัวออกจากชั้นที่ติดจอตา

    
การเสื่อมน้ำวุ้นตาที่ปกตินั้น เราอาจจะพบคล้ายภาพของจุดดำ หยักใย หรือยุงดำบนพื้นขาว ลอยเคลื่อนไปมาในลูกตาที่เรียกว่า Floaters การเสื่อมของน้ำวุ้นตานี้เป็นผลให้เกิดการลอกตัวของวุ้นตาออกจากจอตา การลอกที่ปกตินี้จะไม่มีผลต่อการมองเห็นของเรา


แต่ถ้าการลอกนั้นทำให้เกิดการดึงจอตาที่ติดกับน้ำวุ้นตาฉีกขาด จะทำให้ส่วนของน้ำวุ้นไหลเข้าไปในชั้นแยกที่ขาดของจอตา เกิดโรคที่เรียกว่า Retinal detachment หรือจอตาฉีกขาดจะเกิดอาการเหมือนมีแสงแฟลช์เข้าตา และอาจจะทำให้เส้นเลือดที่จอตาขาดทำให้มีเลือดออกร่วมด้วย ถือเป็นพยาธิสภาพที่ต้องรักษาเร่งด่วน อาการและอาการแสดงของน้ำวุ้นตาเสื่อมคือการเห็นจุดดำ หยักใย หรือยุงลอยไปมาในลูกตา ถ้ามีปริมาณมากขึ้น ขนาดใหญ่ขึ้น หรือพบบ่อยขึ้นอย่างผิดสังเกต หรือมีอาการเห็นแสงแฟลช์ก็ให้รีบไปพบจักษุแพทย์