รังสียูวีอันตรายต่อดวงตา

รังสียูวีหรือ Ultraviolet เป็นแสงที่มีความยาวคลื่นที่ต่ำกว่า 400 นาโนเมตร (แสงสีต่างๆที่เรามองเห็นได้อยู่ในช่วง 400 – 760 นาโนเมตร) พบมากในแสงแดด เครื่องเชื่อมไฟฟ้า และในสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมบางชนิด รังสียูวีแบ่งออกได้ 3 ช่วงตามความรุนแรงที่มีต่อเรา


 UV – A  ช่วงความยาวคลื่น  400 – 315 นาโนเมตร
 UV – B  ช่วงความยาวคลื่น  315 – 280 นาโนเมตร
 UV – C  ช่วงความยาวคลื่น  280 – 200 นาโนเมตร


รังสี UV-C จากดวงอาทิตย์จะถูกกรองโดยชั้นบรรยากาศทั้งหมดไม่พบบนโลกของเรา รังสี UV-B ส่วนใหญ่ก็จะถูกกรองโดยชั้นโอโซน ดังนั้นบนโลกจะพบ UV-A เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากภาวะเรือนกระจกที่เกิดขึ้นไปทำลายชั้นโอโซนบางลงและบางส่วนให้เป็นช่องโหว่ทำให้รังสี UV-B สามารถผ่านมาบนผิวโลกของเราได้มากขึ้นกว่าในอดีต รังสี UV-B นี้เป็นอันตรายอย่างมากต่อมนุษย์เราทั้งทางดวงตาและทางผิวหนัง รังสียูวีเมื่อเดินทางเข้าสู่ดวงตาจะมีกระจกตาและเยื่อบุตาขาวที่อยู่ชั้นนอกสุดทำหน้าที่กรองรังสียูวีโดยเฉพาะ UV-B จากนั้นรังสียูวีที่เหลือจะเดินทางเข้าสู่ภายในดวงตาและถูกกรองที่เลนส์แก้วตาเป็นหลัก ดังนั้นผลกระทบต่อดวงตาของแสงยูวีเราจึงมักพบที่กระจกตา เยื่อบุตาขาวและเลนส์แก้วตา อันตรายของรังสียูวีต่อดวงตาที่พบได้ทั่วไปก็คือ


- โรคต้อลม ต้อลมเป็นเนื้อเยื่อบุตาขาวที่หนาตัวขึ้นโดยเฉพาะบริเวณด้านจมูก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการระคายเคืองของเนื้อเยื่อ เช่น โดนลม สิ่งแปลกปลอม ตาแห้ง การขยี้ตา ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวถูกกระตุ้นให้มีการการสร้างเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้น รังสียูวีจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดต้อลมหนาตัวมากยิ่งขึ้น เป็นผลทำให้มีอาการตาแห้งและระคายเคืองตามากยิ่งขึ้น


- โรคต้อเนื้อ ต้อเนื้อเป็นเนื้อเยื่อของเยื่อบุตาขาว ที่ได้รับความระคายเคืองอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน   ส่งผลทำให้เนื้อเยื่อบุตาขาวชั้นลึกลงไปคือ fibro-vascular tissue มีการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาและมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้ ทำให้สามารถเจริญและลุกลามได้อย่างรวดเร็ว รังสียูวีจะกระตุ้นให้เนื้อเยื่อนี้เจริญลุกลามอย่างรวดเร็วเข้าสู่บริเวณกระจกตา ซึ่งจะไปบังแสงที่จะเข้าสู่ดวงตาทำให้การมองเห็นแย่ลงได้ ลักษณะเป็นเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยมสีขาวขุ่นและมีเส้นเลือดด้านใต้ มีด้านยอดสามเหลี่ยมชี้เข้าหากระจกตา การรักษาต้องทำการผ่าตัดเลาะเนื้อเยื่อออก


- โรคต้อกระจก เมื่อรังสียูวีเดินทางผ่านกระจกตาและเยื่อบุตาขาวก็จะเข้าสู่เลนส์แก้วตา แสงยูวีนี้จะกระตุ้นให้โครงสร้างเนื้อเยื่อเลนส์แก้วตาเปลี่ยนสภาพและขุ่นเร็วขึ้นกว่าปกติ (โดยปกติคนส่วนใหญ่จะเป็นต้อกระจกเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป) ทำให้แสงที่เดินทางเข้าสู่จอตาลดลงและเกิดการหักเหแสงผิดปกติ การมองเห็นจึงแย่ลงและมีอาการแพ้แสงมากขึ้นเกิดพยาธิสภาพที่เรียกว่า “ต้อกระจก”


- โรค Aged related macular degeneration, ARMD เกิดจากแสงยูวีที่ผ่านเลนส์แก้วตาเข้าสู่ชั้นในที่จอตาทำให้จอตาได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่ในอดีตพบกับคนที่ผ่าตัดต้อกระจกแล้วไม่มีการใส่เลนส์เทียมเข้าไป ทำให้รังสียูวีทะลุเข้าสู่จอตาและทำความเสียหายได้


อย่างไรก็ตามการป้องกันรังสียูวีเข้าสู่ดวงตานับว่ามีความจำเป็นมากยิ่งขั้นในโลกปัจจุบัน แต่เพราะผลเสียหายจะเกิดขึ้นในระยะยาวทำให้เรามักละเลยที่จะป้องกันและหลีกเลี่ยง การป้องกันทำได้อย่างง่ายด้วยการสวมแว่นกันแดด ใส่หมวก ถือร่ม หรือการใช้แว่นสายตาที่สามารถป้องกันแสงยูวีได้ถึงความยาวคลื่น 380 นาโนเมตรตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยาของเมริกา ซึ่งแว่นตาสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น


- ใช้เลนส์ที่เป็นวัสดุป้องกันรังสียูวีในตัว เช่น เลนส์ที่มีดัชนีหักเหตั้งแต่ 1.56 ขึ้นไป หรือ เลนส์โพลี่คาร์บอเนต
- เคลือบเลนส์ด้วยสารป้องกันรังสียูวี
- ใช้เลนส์โพลารอยด์
- ใช้เลนส์ปรับแสงอัตโนมัติ

หากมีการป้องกันรังสียูวีที่ดีตั้งแต่เด็กพบว่าภาวะต้อกระจกอาจจะไม่เกิดขึ้นในขณะมีชีวิตอยู่ได้ก็เป็นได้