2 ทำไมเลนส์โปรเกรสซีฟจึงมีราคาสูงและใช้งานยาก : ว่าด้วยเรื่องความสำคัญของค่าสายตาที่วัดได้

20 กุมภาพันธ์ 2557

 

2. ทำไมเลนส์โปรเกรสซีฟจึงมีราคาสูงและใช้งานยาก : ว่าด้วยเรื่องความสำคัญของค่าสายตาที่วัดได้

 โดยปกติเราจะพูดถึงเรื่องชนิดของสายตาที่มีอยู่ด้วยกัน 4 ชนิดคือ

- สายตาสั้น

- สายตายาว

- สายตาเอียง

- และสายตายาวตามวัยหรือสายตาแก่ 
 
สายตาสั้น ยาวและเอียงที่เราพูดกันทั่วไปนั้นหมายถึงสายตาที่เป็นมาแต่กำเนิด ตามลักษณะทางโครงสร้างทางกายภาพของดวงตา เช่น แสงขนานจากวัตถุระยะไกล เมื่อหักเหผ่านกระจกตาและเลนส์แก้วตาแล้วตกก่อนถึงจอประสาทตาก็จะเรียกว่าสายตาสั้น ถ้าตกหลังจอประสาทตาก็เรียกว่าสายตายาว หรือเมื่อหักเหแล้วได้สองโฟกัสก็เรียกว่าสายตาเอียง เป็นต้น

ส่วนสายตายาวตามวัยเกิดจากการเสื่อมของระบบการเพ่งที่เกิดขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้นหรือตามวัยนั้นเอง เช่น เลนส์แก้วตาลดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อเพ่งลดประสิทธิภาพลง ทำให้แสงจากวัตถุระยะใกล้ซึ่งจะตกเลยจอตา แล้วระบบเพ่งต้องทำงานแต่ไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำให้แสงนั้นตกถึงจอตา ซึ่งทั้งนี้เป็นไปตามวัยที่เพิ่มขึ้นจึงเรียกว่า สายตายาวตามวัย ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถึงตอนนี้จะเห็นได้ว่าเรามีค่าสายตา 2 ส่วนสำหรับคนที่มีสายตายาวตามวัยหรือสายตาแก่ร่วมด้วย คือ

 
1. ค่าสายตาแต่กำเนิดหรือสายตามองไกล และ

2. ค่าสายตายาวตามวัยหรือสายตาแก่
 
ดังนั้นในการทำแว่นตาโปรเกรสซีฟจึงจำเป็นต้องหาค่าสายตาทั้งสองส่วนให้ถูกต้อง และที่สำคัญมากคือต้องถูกต้องทั้งสองตาด้วย เพราะด้วยเลนส์โปรเกรสซีฟมีข้อจำกัดด้านความกว้างของพื้นที่การใช้งานอยู่แล้วโดยโครงสร้าง หากเราวัดค่าสายผิดไปหนึ่งตาทำให้ตาข้างนั้นมีความคมชัดลดลง ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่การใช้งานส่วนหนึ่งด้อยความคมชัดลงอาจจะมากได้ถึงประมาณ 16% ของพื้นที่รวมเลยทีเดียว (การมองสองตาทำให้ได้ภาพกว้างมากกว่า 180 องศา แต่ถ้าเรามองด้วยตาข้างเดียวจะเหลือมุมมองกว้างเพียง 150 องศา)

 ส่วนวิธีการวัดหาค่าสายตาตามมาตรฐานจะมีอยู่ 2 วิธี


1. Objective test  เป็นการหาค่าสายค่าโดยประมาณจากโครงสร้างตาโดยที่ไม่ขึ้นกับการมองเห็นของคนไข้ เช่น Auto-refractor หรือเครื่องออโต้ตามร้านแว่นที่เห็นทั่วไป อาจผิดพลาดได้ง่ายหากคนไข้ที่มีอายุน้อยซึ่งมีความสามารถในการเพ่งสูง

2. Subjective test  เป็นการหาค่าสายตาจากการมองเห็นของคนไข้ ซึ่งจะให้ความถูกต้องและละเอียดมากกว่า แต่ขั้นตอนจะมากและยุ่งยากกว่า เช่น เครื่อง Phoropter  พบได้ตามโรงพยาบาลหรือร้านแว่นตาที่มีผู้เชี่ยวชาญทัศนมาตร

ตามวิธีทางมาตรฐานสากลมักจะต้องมีการใช้เครื่อง Phoropter ในการหาค่าสายตาเสมอถือเป็น Routine Examination ที่ต้องปฏิบัติ เพราะสามารถควบคุมตัวแปรในการวัดค่าสายตาได้ดี โดยเฉพาะการเพ่งของคนไข้ที่จะเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ ถ้าควบคุมไม่ดีจะส่งผลให้ค่าที่ได้ไม่ถูกต้อง (หากเราวัดค่าสายตาตามโรงพยาบาลโดยเฉพาะในเด็กมักจะต้องหยอดยาสลายการเพ่ง เพื่อควบคุมกระบวนการเพ่งนั้นเอง)