การหาค่าสายตาด้วยแผ่นเขียว-แดง หรือ Red-Green test

                                                                       29 มีนาคม 2557


การหาค่าสายตาด้วยวิธี Red-Green test

 การวัดสายตาด้วยวิธีที่เรียกกันว่า เขียว-แดง หรือ Red-Green test นั้นพบได้ทั่วไปตามร้านแว่นตา เราจะเห็นแผ่นทดสอบที่มีตัวเลขสีดำในพื้นสีแดงกับตัวเลขสีดำในพื้นสีเขียว ติดตามผนังหรืออยู่ตามเครื่องทดสอบ การทดสอบเขียว-แดง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการค่าสายตาระยะไกลเบื้องตาในการประเมินสายตาเท่านั้น การทดสอบนี้มีปัจจัยที่ควบคุมค่อนข้างยากหลายตัวด้วยกัน

หลักการ

 การทดสอบเขียว-แดง ใช้หลักการของการกระจายแสงสีขาวที่เดินทางผ่านปริซึม แสงสีขาวจะกระจายออกเป็นความยาวคลื่นสีต่างๆ ในลักษณะเดียวกับแสงสีรุ้ง เช่น ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง ไล่ตามความยาวคลื่นจากน้อยไปหามาก แสงจากวัตถุที่เดินทางผ่านกระจกตาที่มีผิวโค้งก็เกิดปรากฏการณ์ในลักษณะเดียวกัน ในทาง Optic สามารถวัดความความห่างของแสงสีเขียวกับแสงสีแดงได้ที่ประมาณ 0.50 diopters ดังนั้นหากเราทำให้แสงสีเขียวกับสีแดงอยู่กึ่งกลางจุดรับภาพชัดเราก็จะสามารถได้ภาพที่คมชัดได้เช่นกัน และความห่างจากจุดรับภาพกับแสงทั้งสองก็จะอยู่ที่ข้างละ 0.25 diopters นั้นเอง หากคนไข้แยกไม่ออกหรือสลับไปมาให้เลือกสีเขียว เพราะสีเขียวอยู่ใกล้กับสีเหลืองมากกว่าซึ่งสีเหลืองเป็นสีที่ตรงกับเซลรับแสงที่จุดรับภาพชัด

ข้อควรระวัง

1. แสงสีแดงหรือเขียวนั้น จะต้องเป็นความยาวคลื่นที่ถูกต้องเท่านั้น เช่น ต้องไม่เป็นสีชมพู สีเขียวอ่อน
2. หากเป็นเครื่องฉายทดสอบ (Over head projector) ต้องอยู่บนฉากหลังสีเทาที่ผู้ผลิตให้มาจึงจะให้แสงที่ถูกต้อง
3. ต้องวัดที่ระยะห่าง 6 เมตรเสมอ เพื่อลดปัจจัยการเพ่งออก
4. ต้องควบคุมการเพ่งให้ดี โดยการทำ fogging ร่วมด้วยเสมอ
5. ต้องทดสอบภายในห้องที่มืดสนิท เพื่อให้ได้แสงที่มีความยาวคลื่นที่ถูกต้องและตัดปัจจัยในเรื่องของ depth of focus ออก

ขั้นตอนการทดสอบ

1. ตั้งเครื่องวัดสายตา Phoropter ตามค่าสายตาเดิม หรือค่าที่ได้จากเครื่องวัดอัตโนมัติ หรือเครื่อง Retinoscope หรือ ประเมินจากค่า VA, ตั้ง PD ระยะไกล, ปิดไฟ
2. ปิดตาทั้งสองข้าง
3. Fog ทั้งสองตาด้วยเลนส์บวก 0.75 D
4. เปิด R&G chart
5. เปิดตาขวา คนไข้จะเห็นตัวเลขในพื้นแดงดีกว่าเสมอ (ถ้าเขียวดีกว่าให้ใส่เลนส์บวกเพิ่มอีกจนกว่าจะเห็นตัวเลขบนพื้นแดงดีกว่า)
6. ลดเลนส์ทีละ +0.25 DS จนคนไข้เห็นตัวเลขชัดเท่ากันบนพื้นทั้งสองหรือตัวเลขบนพื้นเขียวดีกว่าเล็กน้อย
7. ปิดตาขวา เปิดตาซ้าย ทำเช่นเดียวกันในตาซ้าย
8. ให้คนไข้อ่านค่าสายตาที่ได้ที่ละตาบน VA chart และบันทึกค่า

ค่าสายตาที่ได้นี้เรียกว่าค่า Best sphere ที่แก้ไขด้วยเลนส์ Sphere เท่านั้น ยังไม่ได้แก้ไขในส่วนของสายตาเอียง (ถ้ามี) เราจำเป็นต้องทำขั้นตอนต่อไปเพื่อหาค่าสายตาเอียงด้วยวิธีต่างๆ เช่น Clock dial test หรือ Jackson cross cylinder