3. ทำไมเลนส์โปรเกรสซีฟจึงมีราคาสูงและใช้งานยาก: ว่าด้วยเรื่องความสำคัญของพารามิเตอร์ในการวัดและประกอบเลนส์

29 มีนาคม 2557

3. ทำไมเลนส์โปรเกรสซีฟจึงมีราคาสูงและใช้งานยาก : ว่าด้วยเรื่องพารามิเตอร์ในการวัดและประกอบเลนส์

วันนี้เรามาพูดถึงเรื่องสำคัญมากที่สุดของโปรเกรสซีฟเลนส์นั้นก็คือ พารามิเตอร์ในการวัดและการประกอบเลนส์ ด้วยข้อจำกัดในโครงสร้างที่มีพื้นที่รับภาพชัด ทำให้การประกอบเลนส์โปรเกรสซีฟหนึ่งคู่จึงต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญในพารามิเตอร์ต่างๆ ทั้งความถูกต้องและความแม่นยำในการวัดค่าและการฝนและประกอบแว่นตา

พารามิเตอร์ที่ใช้ในแว่นตาโปรเกรสซีฟ ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่รู้จักในช่างแว่นตามานานเพียงแต่ว่าในเลนส์แว่นตาชั้นเดียวมักจะไม่ส่งผลต่อคนไข้มากนัก ทั้งนี้ก็เพราะเลนส์ชั้นเดียวมองบริเวณใดของเลนส์ก็จะชัดเท่ากันทั้งหมดและไม่มีพื้นที่รบกวน เพียงแต่จะทำให้ความสบายตาลดลงไปเท่านั้น ในขณะที่เป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ ถ้าหากพารามิเตอร์ดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือขาดความแม่นยำ จะส่งผลให้พื้นที่การมองเห็นลดลงอย่างมากจนถึงระดับที่ไม่สามารถใช้งานได้เลยทีเดียว

พารามิเตอร์ในโปรเกรสซีฟเลนส์ที่สำคัญมีดังนี้

1. ระยะห่างลูกตา (Pupillary distance, PD )
PD ถือเป็นค่าที่มีความสำคัญมากที่สุด หากค่า PD ผิดพลาดประสิทธิภาพของเลนส์จะลดลงอย่างมาก โอกาสที่จะใช้ได้มีน้อยมาก ค่า PD ที่ใช้ในแว่นตาโปรเกรสซีฟจำเป็นจะต้องเป็นค่าที่วัดทีละตาเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ลูกตาคนเรามักจะมีระยะห่างแต่ละข้างจากจุดกลางจมูกที่ไม่ค่อยเท่ากัน ถ้าห่างค่า PD ผิดพลาดมักพบปัญหาได้ทั้งการมองไกลและการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะการเดินจะเหมือนพื้นเอียง วูบวาบ โคลงเคลงไปมาตั้งแต่แรกใช้งาน หากส่ายศีรษะอาการจะยิ่งมากขึ้น แว่นตาโปรเกรสซีฟที่มีค่า PD ที่ถูกต้องมักจะเดินตรงได้ดีไม่มีปัญหา

2. ระยะสูงตา (Pupil height)
ระยะสูงตา หมายถึง ระยะที่วัดจากขอบต่ำสุดของเลนส์ถึงจุดกึ่งกลางตาดำ พารามิเตอร์นี้มักจะเข้าใจกันผิดอยู่มาก โดยมักจะเข้าใจเอาว่าเป็นความสูงจากกึ่งกลางตาดำลงมาที่ขอบล่างของกรอบ เพราะตามมาตรฐานการวัดพารามิเตอร์ของกรอบจะใช้ระบบที่เรียกกันว่า Boxed system ซึ่งเครื่องฝนเลนส์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมจะอ้างอิงระบบ Boxed system เป็นหลักและเข้าใจเป็นระบบสากลทั่วโลก เช่นเดียวกันต้องวัดทีละตาเพราะตาแต่ละข้างจะมีความสูงที่ไม่เท่ากันได้ รวมทั้งบางคนอาจจะมีหูสองข้างที่สูงไม่เท่ากัน หากค่าระยะสูงตาผิดพลาดมากก็จะไม่สามารถสวมใส่ได้ตั้งแต่แรกเช่นกัน

3. มุมโค้งหน้าแว่น (Face form angle)
มุมโค้งหน้าแว่นเป็นพารามิเตอร์ที่สำคัญของการมองใกล้หรืออ่านหนังสือ มุมโค้งหน้าแว่นจะเป็นบวกเสมอคือโค้งเข้าหาตามรูปหน้า เพื่อให้มีพื้นที่การมองกว้างที่สุดตามความโค้งของลูกตาและเกิดความสวยงาม ค่านี้จะถูกแนะนำโดยผู้ผลิตเลนส์หรือค่าโดยประมาณที่ 5องศา มุมโค้งหน้าแว่นจะต้องถูกปรับให้ได้ค่ามาตรฐานในขณะลองแว่นตาก่อนฝนเลนส์เสมอเพราะจะมีผลต่อค่าของ PD ถ้ามีการปรับในภายหลัง

4. มุมเท (Pantoscopic tilt)
มุมเทเป็นอีกพารามิเตอร์ที่สำคัญทั้งการมองไกลและมองใกล้ มุมเทจะถูกแนะนำโดยบริษัทผู้ผลิตเลนส์เพื่อให้ถูกต้องตามโครงสร้างเลนส์ที่ออกแบบไว้ มุมเทเป็นการวัดมุมเอียงของเลนส์เทียบกับแนวดิ่งซึ่งจะเอียงเข้าหาดวงตาเสมอ ซึ่งจะต้องมีเพื่อให้แสงที่เดินทางจากวัตถุเข้าสู่ดวงตาได้ตรงกับจุดกึ่งกลางตาดำ และลดการเบี่ยงเบนแสงเนื่องจากเลนส์ (Prism effects)

5. ระยะห่างหลังเลนส์ถึงกระจกตา (Corneal vertex distance, CVD)
CVD หมายถึงระยะจากผิวหลังของเลนส์ถึงกระจกตา CVD มีผลต่อกำลังสายตา โดยเฉพาะในคนที่มีค่าสายตาสูงๆ เช่นเดียวกัน ค่า CVD ก็จะถูกแนะนำโดยบริษัทผู้ผลิตเลนส์

6. ค่า Inset
Inset เป็นค่าของการเหลือบในแนวนอน หรือ ค่าที่แตกต่างกันของ PD ในการมองไกลและใกล้ โดยปกติจะพูดถึงตาหนึ่งข้าง ค่า Inset แต่เดิมทางผู้ผลิตจะทำขึ้นเป็น stock มีไม่กี่ค่า แต่ปัจจุบันเมื่อเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟเฉพาะบุคคลทำให้สามารถขัดเลนส์ Inset ขึ้นตามเฉพาะบุคคลได้ โดยการคำนวณจากพารามิเตอร์ เช่น ค่า PD และระยะอ่านหนังสือที่ต้องการ เป็นต้น

เห็นได้ว่าในการทำเลนส์โปรเกรสซีฟหนึ่งต้องการพารามิเตอร์หลายค่า ซึ่งจะต้องเป็นค่าที่ถูกต้องและมีความแม่นยำสูงทั้งวิธีการวัด ความเข้าใจ และยังต้องรวมไปถึงการฝนและประกอบเลนส์ให้ได้ถูกต้องตามค่าที่วัดได้อีกด้วย จึงจะทำให้เลนส์โปรเกรสซีฟที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี สามารถแสดงประสิทธิภาพของเลนส์ออกมาได้อย่างเต็มที่นั้นเอง