เลนส์โปรเกรสซีฟ

                                                                              11 May 2014

เลนส์โปรเกรสซีฟ มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Progressive additional lens ซึ่งเป็นการรวมกันของสองความหมายคือคำว่า Progressive ที่แปลว่าการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วน additional ซึ่งหมายถึงการเพิ่มกำลังเลนส์บวกเพื่อให้คนที่มีภาวะสายตายาวตามวัยสามารถอ่านหนังสือได้นั้นเอง

ดังนั้น Progressive additional lens จึงหมายถึงเลนส์ที่มีการเปลี่ยนกำลังเลนส์บวกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องลงบนเลนส์สำหรับมองไกล จนทำให้สามารถอ่านหนังสือได้นั้นเอง ดังนั้นเลนส์โปรเกรสซีฟจึงเป็นเลนส์ที่สามารถมองเห็นได้ทุกระยะ จากระยะไกลถึงระยะใกล้ได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนเลนส์สองชั้นหรือสามชั้นจึงไม่ถือเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ เพราะกำลังเลนส์บวกเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ นั้นเอง

ส่วนเลนส์บางชนิดที่ถูกออกแบบมาเฉพาะงานบางประเภท เช่น เพื่ออ่านหนังสือกับใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือเลนส์ที่ใช้ในพื้นที่จำกัด เป็นต้น ถึงแม้จะมีการเพิ่มค่าเลนส์บวกอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่ถือว่าเป็นเลนส์โปรเกรสซีฟ เพราะไม่สามารถมองเห็นระยะไกลได้ปกติ เรามักจะเรียกเลนส์กลุ่มนี้ว่า เลนส์เฉพาะทาง (Occupational lenses)

เลนส์โปรเกรสซีฟจะมีพื้นที่บริเวณหนึ่งที่เรียกว่า Progressive zone หรือ Corridor zone ซึ่งจะเชื่อมระหว่างพื้นที่ในการมองไกลที่อยู่ด้านบนกับพื้นที่ในการมองใกล้ที่อยู่ด้านล่าง คล้ายทางเลื่อนไฟฟ้าที่เชื่อมชั้นบนกับชั้นล่าง ซึ่งตามธรรมชาติเราจะเหลือบตาลงต่ำและหุบเข้าเพื่อการอ่านหนังสือ Progressive zone นี้เองที่มีโครงสร้างในการเพิ่มค่าสายตาบวกเข้าไปอย่างต่อเนื่องกระทั่งถึงพื้นที่ในการอ่านหนังสือ ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ชัดทุกระยะและเป็นที่มาของคำว่า Progressive additional lens

Progressive หรือ Corridor length มีความสำคัญทั้งในแง่ผู้ใช้และผู้ออกแบบ อาจจะมีระยะตั้งแต่ 11, 13, 15, 17 มิลลิเมตรก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบโครงสร้างเลนส์ ในแง่ผู้ใช้กรณีที่เลือกระยะ Corridor สั้น เช่น 11 มิลลิเมตร ระยะของ Corridor จะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดคุณสมบัติของเลนส์โปรเกรสซีฟ

Corridor ที่สั้นกว่าจะมีคุณสมบัติ คือ


- ข้อดี ให้ระยะเหลือบที่สั้นใกล้เคียงธรรมชาติในการอ่านหนังสือ

- ข้อเสีย ทำให้มีภาพวูบวาบด้านข้าง หรือ swim effect รบกวนสูงขึ้นและพื้นที่ชัดระยะกลางจะแคบลงและสั้น
 
ในขณะที่โครงสร้าง Corridor ที่ยาวกว่าจะมีข้อดีที่ Swim effect จะต่ำกว่าและมีพื้นที่ชัดระยะกลางที่กว้างกว่าและลึกกว่า แต่มีข้อเสียที่อาจต้องเหลือบลงลึกสักเล็กน้อยสำหรับการอ่านตัวอักษรที่มีขนาดเล็กๆ

ในแง่ของการออกแบบ จึงให้ความสำคัญกับสองสิ่งคือการเพิ่มพื้นที่ในการอ่านหนังสือ และสองคือลดผลกระทบของ Swim

ดังนั้นการเลือกเลนส์โปรเกรสซีฟจึงต้องคำนึงถึงพฤติกรรมในการใช้งานของผู้ใช้เป็นสำคัญ เช่น

สำหรับ Short corridor

- เพื่อการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ควรจะเลือกใช้ Corridor ที่สั้นหรือ Short corridor

- การใช้ notebook เป็นหลักก็ควรเลือก Short corridor

สำหรับ Corridor ที่ยาวกว่าจะมีคุณสมบัติ คือ

- หากใช้งานทั่วๆ ไปการเลือกใช้ Long corridor จะลด Swim effect ทำให้สามารถปรับตัวกับการใช้งานได้ง่ายขึ้น

- ใช้กับ PC ตั้งโต๊ะซึ่งต้องการระยะกลาง (60-80 เซนติเมตร) ที่กว้าง

- อาชีพขับรถต้องการระยะกลางในการมองหน้าปัดต่างๆ ระยะกลางที่กว้างจะจำเป็น
 
แต่อย่างไรก็ตามด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากในปัจจุบัน จึงสามารถออกแบบเลนส์โปรเกรสซีฟที่ตัดความสัมพันธ์ดังกล่าวออก เช่น

เลนส์โครงสร้างใหม่ล่าสุดของ Essilor ที่เรียกว่า S-Series เป็นผลให้สามารถออกแบบให้มีพื้นที่ในการมองชัดเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 50%

ในขณะที่พื้นที่รบกวน Swim effect ลดลงได้มากกว่า 90% ในรุ่นที่ดีที่สุดในก่อนหน้า