ภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืน Night myopia

                                                                                                                                                            20 สิงหาคม 2558
 
สายตาสั้นตอนกลางคืน หรือ ที่เรียกว่า Night myopia นั้น ได้มีการศึกษากันมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงสาเหตุที่ทำให้การมองเห็นแย่ลงในที่มืด ในปัจจุบันทฤษฎีที่ใช้อธิบายได้ดีในการเกิดภาวะสายตาสั้นในตอนกลางคืนก็คือ เรื่องของ Tonic Accommodation

Tonic Accommodation คือ Resting focus of Accommodative state เป็นสภาวะพักของระบบเพ่งที่ระบบประสาทอัตโนมัติของระบบเพ่งอยู่ในภาวะสมดุล ระบบเพ่งจึงไม่ทำงาน สาเหตุจากการขาดโครงร่างภาพของวัตถุบนจอตาที่ดีพอที่จะไปกระตุ้นการทำงานของ ระบบเพ่งนั้น ภาวะ Tonic accommodation นี้ ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นขึ้นได้ในสถานการณ์เหล่านี้

-    Night myopia หรือ ภาวะสายตาสั้นเมื่ออยู่ในที่มืดหรือตอนกลางคืน

-    Space myopia หรือ ภาวะสายตาสั้นเมื่อมองที่โล่งหรือท้องฟ้า

-    Instrument myopia หรือ ภาวะสายตาสั้นเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์

ภาวะ สายตาสั้นตอนกลางคืน หรือ Night myopia ในคนทั่วไปอาจจะไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ระบบนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ (Biological clock) ต้องการให้ร่างกายได้พักผ่อน ภาวะ Night myopia จึงเป็น Physiological of resting of accommodation หรือเป็นสภาวะพักของระบบเพ่งปกติของมนุษย์ขณะอยู่ในที่มืด สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นในตอนกลางคืนนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน คือ Optical กับ Sensory components

Optical components จะประกอบด้วยรูม่านตาที่กว้างขึ้น และผลของ Spherical Aberration ในสภาวะที่มีแสงน้อยรูม่านตาของเราจะเปิดกว้างขึ้นเพื่อปรับเพิ่มปริมาณแสง ให้เข้าสู่ดวงตาทำให้การมองเห็นดีขึ้น ส่วน Spherical aberration เป็นผลของแสงที่เดินทางผ่านกระจกตา โดยแสงจากจุดที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของกระจกตาจะหักเหใกล้กว่าแสงที่อยู่ ใกล้จุดศูนย์กลางของกระจกตา ดังนั้นถ้ายิ่งเปิดตากว้างแสงก็ยิ่งตกห่างจากจอตาภาพที่ได้จึงเบลอ
 
Sensory components จะประกอบด้วยปรากฏการณ์ของ Purkinje shift ร่วมกับ Chromatic aberration เซลรับภาพ (Photoreceptors) ที่จอตาจะมีความไวต่อแสงที่ความยาวคลื่นแตกต่างกันในสภาวะที่มีปริมาณแสง ต่างกัน ในสภาวะที่มีแสงสว่างปกติ เซลรับภาพจะมีความไวต่อแสงสูงสุดที่ความยาวคลื่น 555นาโนเมตร ขณะที่ในภาวะที่มีแสงน้อยหรือที่มืด เซลรับภาพจะมีความไวต่อแสงที่มีความยาวคลื่นที่สั้นกว่าคือ 510 นาโนเมตร เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Purkinje shift ส่วน Chromatic aberration เป็นปรากฏการณ์ที่แสงสีขาวเมื่อเดินทางผ่านกระจกตา แสงขาวนั้นจะแยกออกเรียงตามลำดับของความยาวคลื่น โดยแสงที่มีความยาวคลื่นสั้น เช่น แสงสีน้ำเงิน จะตกใกล้กว่าแสงที่มีความยาวคลื่นที่ยาวกว่า เช่น แสงสีแดง

ผลของ ทั้ง Optical และ Sensory components จึงทำให้ดวงตาเกิดภาวะสายตาสั้นในตอนกลางคืนหรือที่ๆ มีแสงน้อย ภาพที่เกิดขึ้นบนจอตาจึงไม่ดีพอ ทำให้เกิดภาวะพักของระบบเพ่ง หรือ Tonic accommodation นั้นเอง

ในอดีตภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืนที่เกิดขึ้น อาจจะไม่มีผลกระทบต่อเรา เพราะกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงกลางวัน ในขณะที่ปัจจุบันมีการใช้ชีวิตยาวนานมากขึ้นในแต่ละวัน ทำให้พบปัญหาของสายตาสั้นตอนกลางคืนได้มากขึ้น หรือในบางคนที่มีอาชีพที่ต้องการการมองเห็นที่ดีขึ้นในตอนกลางคืน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืนนั้น

การ แก้ไขภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืนที่ง่ายที่สุดก็คือ สวมแว่นสายตาเพื่อแก้ไขภาวะค่าสายตาสั้นนั้น โดยเลือกใส่เฉพาะตอนกลางคืนหรือสภาวะที่มีแสงน้อย โดยเลือกใช้เลนส์ที่มีการเคลือบผิวด้วยมัลติโคทเพื่อตัดแสงสะท้อนที่รบกวน การมองเห็น และทำให้ปริมาณแสงเข้าสู่ดวงตาได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ความสามารถในการมองเห็นตอนกลางคืนดีขึ้น นอกจากนี้เลนส์ย้อมสีเหลืองจะช่วยลดผลของภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืนได้ดี แต่จะมีการเพี้ยนสีของวัตถุได้ขึงควรเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง