ภาวะสายตาสั้น (Myopia)

29 กันยายน 2558

ภาวะสายตาสั้น หรือ Myopia มาจากคำว่า Myein ที่หมายถึงการหรี่หรือปิด และ Ops ที่หมายถึงตา ซึ่งคืออาการหรี่ตาที่เป็นอาการแสดงหนึ่งในคนที่มีภาวะสายตาสั้น ภาวะสายตาสั้นในทางคลินิกหมายถึง แสงขนานจากวัตถุระยะไกล (ไกลถึงระยะอนันต์ แต่ในทางคลินิกเราจะให้ที่ระยะตั้งแต่ 6 เมตร) เมื่อเดินทางผ่านเข้าภายในดวงตาแล้ว จุดรวมแสงที่เกิดขึ้นนั้นจะตกอยู่ก่อนถึงจุดรับภาพชัดที่จอตา ทำให้การสร้างภาพที่สมองส่วนของการมองเห็น (Visual cortex) ซึ่งอยู่ที่บริเวณท้ายทอยได้ภาพที่ไม่คมชัดนั้นเอง ส่วนการมองใกล้ในคนสายตาสั้นจะมองเห็นได้ชัดตามปกติ

ภาวะสายตาสั้นส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือร่วมกันเหล่านี้
-    ความยาวกระบอกตาสูงกว่าปกติ
-    กระจกตามีรัศมีความโค้งน้อยกว่าปกติ
-    ดัชนีหักเหตัวกลางภายในตาเปลี่ยนไป
-    ขนาดของ Anterior chamber dept ลึกเกินไป


การแบ่งระดับความรุนแรงของภาวะสายตาสั้นได้ดังนี้
-    น้อยมาก Up to -1.00 D.
-    น้อย -1.00 D to -3.00 D.
-    ปานกลาง -3.00 D to -6.00 D.
-    สูง -6.00 to -10.00 D.
-    สูงมาก มากกว่า -10.00 D.

อาการและอาการแสดง
1.    คนที่มีภาวะสายตาสั้นอาจพบอาการเหล่านี้ นอกจากอาการมองไกลที่ไม่ชัดซึ่งเป็นอาการหลัก
-    มีอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อรอบดวงตาที่เกิดจากการหรี่ตา
-    มีอาการเมื่อยบริเวณต้นคอ หรือด้านหลังท้ายทอยที่เป็นที่อยู่ของศูนย์รวมภาพ (Visual cortex)
-    การมองเห็นแย่ลงมากโดยเฉพาะตอนเย็นหรือที่ๆ มีแสงน้อย
-    ในคนที่มีสายตาสั้นมากจะสังเกตพบจุดดำคล้ายหยากไย่ หรือยุงลอยไปมาภายในตา ที่เกิดจากการเสื่อมของวุ้นตา (Vitreous       humor) มากกว่าคนปกติ
-    มีขนาดภาพที่จอตาใหญ่กว่าคนปกติจากความยาวของกระบอกตาและความไม่คมชัดของภาพ ดังนั้นเมื่อใส่แว่นสายตาแก้ไขจะรู้สึกว่าวัตถุรอบตัวเล็กลง

2.    เราอาจพบเห็นอาการแสดงเหล่านี้ของคนที่มีภาวะสายตาสั้นได้
-    ชอบมองวัตถุระยะใกล้กว่าปกติ เช่น ดูทีวี หรือ มองกระดาน
-    ชอบหรี่ตาเพื่อลดขนาดแสงที่เข้าตาทำให้ความเบลอของภาพลดลง (Spherical aberration)
-    มีรูม่านตาที่ขยายใหญ่เพื่อเพิ่มปริมาณแสงเข้าสู่ดวงตา
-     ชอบที่ๆ มีแสงสว่างมากกว่าปกติ เพื่อเพิ่ม Contrast ให้วัตถุ
-    อาจพบอาการตาโปน (Exophthalmic or Protruding) ในคนที่มีสายตาสั้นสูงมาก 
-    ในคนที่สายตาสั้นสูงมากที่จอตาใกล้จุดรับภาพชัดอาจพบลักษณะที่เรียกว่า myopic crescent

การแบ่งประเภทของภาวะสายตาสั้น
1.    สายตาสั้นแต่กำเนิด ( Congenital myopia) พบได้น้อยมากเพียง 1-2% ส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ที่มีคนใน    ครอบครัวมีภาวะสายตาสั้นสูงมาก บางส่วนอาจมาจากการทารกที่คลอดก่อนกำหนด ความบกพร่องในช่วง    พัฒนาการของดวงตา ภาวะทุโภชนาการ
2.    สายตาสั้นในภายหลัง (Acquired myopia) เป็นภาวะสายตาสั้นที่พบส่วนใหญ่
3.    สายตาสั้นเทียม (Pseudo-myopia) คือ ภาวะสายตาสั้นชั่วคราวที่เกิดจากกล้ามเนื้อส่วนเพ่งค้างเกร็ง (Ciliary     muscle spasm)  เช่น ช่วงเวลาสอบที่มีการใช้สายตาอ่านหนังสือมาก
4.    สายตาสั้นที่เกิดจากการพักของระบบเพ่ง (Tonic accommodation) ปกติ ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นขึ้น    เช่น     สายตาสั้นตอนกลางคืน (Night myopia) สายตาสั้นในที่โล่งแจ้ง (Space myopia)
5.    สายตาสั้นที่เกิดจากพยาธิสภาพของโรค เช่น โรคต้อกระจก เบาหวานหรือหญิงตั้งครรภ์ ในบางสภาวะ

สาเหตุของการเกิดสายตาสั้นในภายหลัง (Acquired myopia)
สาย ตาสั้นส่วนไม่มากใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดหรือมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน ส่วนค่าสายตาสั้นที่สูง เช่น มากกว่า -4.00 D พบว่ามีความสัมพันธ์กับความยาวของกระบอกตาที่เพิ่มสูงขึ้น และพบว่าการทำงานของระบบเพ่งมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าสายตาสั้น โดยการเพ่งจะมีส่วนไปเพิ่มความดันตาภายในให้สูงขึ้น ทำให้กระบอกตายาวขึ้นได้โดยเฉพาะในเด็กที่มีโครงสร้างของลูกตายังโตไม่เต็ม ที่

ในเด็กที่โครงสร้างลูกตายังโตไม่เต็มที่หรือมีอายุต่ำกว่า 16 ปี เมื่อมีการใช้สายตาระยะใกล้นานหลายชั่วโมงต่อเนื่องเป็นประจำ ระบบเพ่งจะทำงานหนักทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นและคงอยู่เป็นเวลานานส่ง ผลให้กระบอกตายาวขึ้นถาวรได้ จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นขึ้น หรือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไปกระตุ้นให้สายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นได้เช่นกัน

ภาวะ สายตาสั้นมักจะเพิ่มขึ้นน้อยมากหลังจากลูกตาโตเต็มที่ หรือหลังอายุ 16 ปี เพราะโครงสร้างลูกตาโตเต็มที่และมีความแข็งแรง ส่วนการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้นในผู้ใหญ่อาจจะพบได้ในกลุ่มคนที่มีการใช้สายตา ระยะใกล้มากๆ ที่ใช้กำลังการเพ่งสูงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีส่วนไปทำให้ความยาวของกระบอกตาเพิ่มขึ้นได้ เช่น ในคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้กล้องจุลทรรศน์