การฝึกกล้ามเนื้อตาและการเพ่ง : เพื่อแก้ไขและรักษาโรคตาเหล่ตาเข

1 กรกฎาคม 2559

การฝึกกล้ามเนื้อตาและการเพ่ง เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาของกล้ามเนื้อตาและการเพ่งที่ผิดปกติ นอกเหนือจากวิธีการแก้ไขด้วยแว่นตาปริซึมและการผ่าตัด การฝึกกล้ามเนื้อตา (Visual therapy) จะดูแลโดยนักทัศนมาตร (Optometrist) หรือ จักษุแพทย์ หรือในต่างประเทศที่รู้จักในสาขา Orthoptics เพื่อให้กล้ามเนื้อตาสามารถกลับมาทำให้การมองเห็นได้เป็นปกติ

การฝึกกล้ามเนื้อตามีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะในเด็กที่มีอาการตาเหล่ตาเขก่อนอายุ 8 ขวบ ที่เป็นอาการนำไปสู่โรคสายตาขี้เกียจเนื่องจากตาเหล่ตาเข (Strabismus Amblyopia) ที่ยากต่อการรักษาหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

ในเด็กที่มีอาการตาเหล่ตาเขชนิดสังเกตได้ (Strabismus) จะเห็นภาพจากสองวัตถุในเวลาเดียวกัน และเมื่อไม่ได้รับการแก้ไขสมองจะเกิดกระบวนการตัดการรับรู้ภาพในตาข้างที่เข (Suppression) ออก เพื่อลดภาพที่รบกวนการมองเห็น ทำให้เด็กเหลือการมองเห็นด้วยตาเพียงหนึ่งข้าง และทำให้พัฒนาการของสมองส่วนของระบบการมองเห็นสองตา (Binocular vision system) ที่อยู่ในช่วงก่อนอายุ 8 ขวบหยุดลง ดวงตาคู่นั้นก็จะสูญเสียความสามารถในการมองเห็นสองตา เช่น ความสามารถในการมองเห็นสามมิติ สนามภาพรวมของการมองเห็นลดลง contrast sensitivity ลดลง เป็นต้น หรือที่เราเรียกว่า โรคสายตาขี้เกียจ (Amblyopia) หรือ Lazy eye นั้นเอง

การฝึกกล้ามเนื้อตาและการเพ่ง ยังเป็นการแก้ไขปัญหาของอาการตาเหล่ตาเขแบบซ้อนเร้น (Heterophoria) และการเพ่ง ที่มีอาการต่างๆ เช่น
 
-    ไม่สบายตาในการใช้สายตาช่วงบ่าย โดยเฉพาะระยะใกล้
-    มองเห็นไม่ชัดเมื่อตอนขับรถโดยเฉพาะในตอนกลางคืน
-    การมองเห็นภาพซ้อนในบางครั้ง
-    อาการแพ้แสงจ้าที่รุนแรง
-    ปวดศีรษะ ตึงตา น้ำตาไหลตอนอ่านหนังสือ
-    เมื่อยล้าตา ภาพเบลอสลับชัดตอนอ่านหนังสือ
-    ระบบเพ่งค้าง (Ciliary muscle spasm) ทำให้อ่านหนังสือไปช่วงหนึ่งแล้วมองไกลเบลอ
-    อ่านตัวหนังสือกระโดดหรือข้ามบรรทัด เป็นต้น

สาเหตุเกิดจากกำลังในการรวมภาพสองตา (ฺFusional Vergence) ที่ไม่เพียงพอต่อการไปชดเชยอาการของตาเหล่ตาเขซ้อนเร้นที่มี การฝึกกล้ามเนื้อตาจึงเป็นการเพิ่มกำลังในการรวมภาพ เพื่อทำให้กำลังในการรวมภาพและ/หรือการเพ่งของตาสูงขึ้นมากพอที่จะไปชดเชยอาการตาเหล่ซ้อนเร้นที่มีอยู่ ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานของตากลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติ

การฝึกกล้ามเนื้อตาจึงเป็นวิธีการที่
 
- เพื่อรักษาตาเหล่ตาเขแบบแสดงอาการ ก่อนที่จะเลือกวิธีการผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตา ใช้หลังการผ่าตัดหากยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่ หรือเพื่อให้ตานั้นไม่เกิดการเขไปหลังการผ่าตัดอีก
 
- เพื่อรักษาอาการอันเนื่องมาจากภาวะตาเหล่ตาเขแบบซ้อนเร้น

- เพื่อรักษากำลังเพ่งของดวงตาที่มีอยู่ไม่พอ ให้ความสามารถในการเพ่งเพิ่มมากขึ้นจนเพียงพอต่อความต้องการใช้งาน 

การฝึกกล้ามเนื้อตาเป็นการรักษาที่ต้องทำเป็นโปรแกรมการฝึกตามลำดับขั้นตอน (Progressive sequencing program) ที่ได้รับการออกแบบและดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และต้องใช้เวลาในการฝึกตามโปรแกรมนั้นอย่างสม่ำเสมอทั้งที่คลินิกและที่บ้าน เป็นเวลา 12-24 สัปดาห์ เพื่อสัมฤทธิ์ผลให้ระบบการทำงานสองตาและ/หรือการเพ่งทำงานได้อย่างเป็นปกติ