Ophthalmic prism: คุณสมบัติ ประโยชน์และผลกระทบของปริซึมบนเลนส์แว่นตา

22 มีนาคม 2560

ปริซึมโดยทั่วไปจะหมายถึงวัสดุโปร่งแสงผิวเรียบที่มีสองด้านเบนทำมุมเข้าหากัน และมีด้านหนึ่งตรงข้ามเรียกว่าด้านฐาน (Base) ปริซึมบ่อยครั้งถูกนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อการแก้ไขความผิดปกติของกล้ามเนื้อตา แก้ไขความบกพร่องของระบบการมองเห็นสองตา หรือใช้ในกระบวนการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา ปริซึมที่มีการนำมาใช้ร่วมกันบนเลนส์แว่นตา (Ophthalmic prism) ส่วนใหญ่จะมีขนาดไม่เกิน 15 องศา

ปริซึมมีคุณสมบัติทางแสงที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1.    กระจายแสงสีขาวออกเรียงตามลำดับความยาวคลื่น (Dispersion)
2.    เบนทิศทางของแสงเข้าหาด้านฐาน  (Deviation)
3.    ย้ายตำแหน่งภาพของวัตถุ (Displacement of image)

ประโยชน์ของปริซึมบนเลนส์แว่นตา
ปริซึมที่นำมาใช้บนเลนส์แว่นตาส่วนใหญ่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของกล้ามเนื้อตาที่ทำงานผิดปกติ ทั้งที่เป็นตาเหล่ตาเข (Strabismus) และแก้ไขความผิดปกติในการทำงานของระบบการมองเห็นสองตา (Binocular vision disorders) เช่น

-    ใช้ปริซึมช่วยในการรวมภาพในคนไข้ที่ตาเหล่ตาเขและมีอาการมองเห็นภาพซ้อน เช่น เป็นแต่กำเนิด ได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ (Trauma brain injury)
-    ใช้ปริซึมช่วยแก้ไขระบบของการมองเห็นสองตาในคนที่มีเป็น Vergence disorders เช่น divergence insufficiency, basic exophoria
-    ใช้ปริซึมในการย้ายภาพของวัตถุในคนที่มีปัญหาที่จอตา

ปริซึมยังถูกใช้ในส่วนของเครื่องมือวัดในคนที่มีปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อตา เช่น Prism bar, Risley prism นอกจากนี้ยังใช้เป็นอุปกรณ์ในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา เพื่อช่วยในการเพิ่มหรือลดภาระของโปรแกรมการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา

ผลกระทบของปริซึมบนเลนส์สายตาที่มักพบได้ คือ
1.    Prism adaptation
2.    Unwanted prism
3.    ปริซึมบนแว่นตาสองชั้น
-    Image jump และ Vertical prism imbalance

เราอาจจะเคยพบว่าแว่นตาคู่ใหม่ที่ประกอบได้ถูกต้องแล้ว แต่ผู้ใช้สวมใส่แล้วไม่สบายตาโดยเฉพาะในค่าสายตาที่สูง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะดวงตาได้มีการปรับให้ชินเข้ากับแว่นสายตาคู่เดิมอยู่ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Prism adaptation ทำให้ใช้เวลาในการปรับตัวที่นานขึ้นกับแว่นสายตาคู่ใหม่  

ปริซึมบนแว่นสายตาสองชั้นที่มีกำลังเลนส์สองค่าและมีจุดศูนย์กลางเลนส์สองจุดสำหรับการมองไกลและใกล้ ผู้ใช้แว่นสองชั้นเป็นครั้งแรกจะสังเกตเห็นภาพของวัตถุกระโดด ในขณะที่มีการกวาดตาลงผ่านเส้นแบ่งเลนส์มายังจุดศูนย์กลางของเลนส์มองใกล้ เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Image jump ซึ่งเมื่อใช้งานไประยะเวลาหนึ่งผู้ใช้จะค่อยๆ ปรับตัวและชินไปได้เอง

ในคนที่มีค่าสายตาสองข้างต่างกัน (Anisometropia) กับการใช้แว่นสองชั้นที่จำเป็นต้องกวาดสายตาจากจุดศูนย์กลางมองไกลลงมายังจุดศูนย์กลางมองใกล้ที่ด้านล่าง จะทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของปริซึมในแนวตั้ง (Vertical prism imbalance) ขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดวงตาจำเป็นต้องแก้ไขโดยการใช้กล้ามเนื้อตาเพิ่มมากขึ้นส่งผลทำให้เกิดความไม่สบายตาในการใช้งาน และหากมากเกินความสามารถของดวงตาก็จะทำให้เกิดการมองเห็นเป็นภาพซ้อนขึ้นได้ (ไม่ค่อยพบปัญหาในเลนส์ชั้นเดียว เพราะผู้ใช้สามารถเอียงศีรษะเพื่อช่วยลดผลกระทบดังกล่าวลงได้)

ปริซึมบนแว่นตาจึงมีทั้งประโยชน์และผลกระทบต่อการใช้งาน ผู้เชี่ยวชาญอย่างนักทัศนมาตรจะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ปริซึมให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่มีความผิดปกติและต้องการใช้ปริซึมเพื่อการแก้ไข ในขณะเดียวกันก็ลดผลกระทบของปริซึมบนแว่นสายตาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับตัวเข้ากับแว่นสายตาคู่นั้นได้ดี