สายตาสั้นกลับได้จริงหรือ? : สาเหตุของสายตาสั้นและการลดลงของค่าสายตาเมื่ออายุมากขึ้น

9 มิถุนายน 2560

หลายคนคงเคยได้ยินมาว่าในคนที่มีภาวะสายตาสั้นนั้น สายตาจะกลับมาเห็นเป็นปกติได้ ทำให้มองเห็นระยะไกลได้ดีขึ้น และระยะใกล้ก็สามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใช้แว่นสายตายาว บทความชิ้นนี้จะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ดี

ภาวะสายตาสั้น หรือ Myopia หรือ Shortsightedness ในทางคลินิกจะหมายถึงภาวะที่แสงจากวัตถุที่ระยะไกล (ทางคลินิกที่ระยะ 6 เมตร หรือ 20 ฟุต) เมื่อเดินทางเข้าสู่ดวงตาและผ่านระบบหักเหแสงของตัวกลางภายในดวงตา เช่น กระจกตา เลนส์แก้วตา แล้ว จุดรวมแสงของภาพนั้นจะตกก่อนถึงจอตา (ส่วนสายตายาวแต่กำเนิด (Hyperopia) จุดรวมแสงนั้นจะอยู่หลังจอตา) ทำให้ภาพที่เกิดขึ้นบนจอตาไม่ชัด การแก้ไขสายตาสั้นจึงเป็นการใช้เลนส์เว้าหรือเลนส์ลบ ซึ่งจะมีคูณสมบัติในการเลื่อนจุดรวมแสงนั้นออกไปให้ไกลขึ้นและไปตกที่จอตาพอดี ทำให้ได้ภาพที่คมชัด

เมื่อเราทราบความหมายของสายตาสั้นแล้ว เรามาดูสาเหตุของการเกิดภาวะสายตาสั้นกัน ภาวะสายตาสั้นมีสาเหตุดังต่อไปนี้


-    โครงสร้างลูกตาสั้นเกินไป

-    โครงสร้างกระจกตาโค้งมากเกินไป

-    ช่องหน้าม่านตา (anterior chamber depth) ลึกเกินไป

-    เลนส์แก้วตาโค้งเกินไป

-    อื่นๆ

เราพบว่าในคนที่มีสายตาสั้นน้อยถึงปานกลาง (น้อยกว่า 4.00 diopters) จะมาจากสาเหตุหลายๆ อย่างร่วมกัน ส่วนในคนที่มีค่าสายตาสั้นที่สูง จะมีสาเหตุส่วนใหญ่จากภาวะโครงสร้างของลูกตาที่สั้นเกินไป โดยปกติดวงตาจะมีพัฒนาการเต็มที่เมื่ออายุเฉลี่ย 16 ปี ดวงตาที่เติบโตเต็มที่แล้วโดยเฉพาะโครงสร้างทางกายภาพของดวงตาจะไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้นภาวะสายตาสั้นของเราจะแทบไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อลูกตาเติบโตเต็มที่หรือหลังอายุเฉลี่ย 16 ปี แล้วทำไมหลายคนจึงรู้สึกว่าสายตาสั้นมีการเปลี่ยนแปลงเกือบทุกปี หรือทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแว่นสายตาคู่ใหม่ สาเหตุที่เป็นไปได้ดังนี้

-    สายตาสั้นมีแนวโน้มจะได้ค่าสายตาที่เกินได้จากการทำงานของระบบเพ่งอัตโนมัติของดวงตา โดยเฉพาะในเด็กซึ่งมีกำลังการเพ่งสูง ดังนั้นในเด็กเล็กบางคนอาจใช้ยาสลายการเพ่งก่อนตรวจวัดค่าสายตา

-    เครื่องวัดสายตาอัตโนมัติทั่วไปมักผิดพลาดในทิศทางที่เพิ่มขึ้นของค่าสายตาสั้นหรือค่าเลนส์ลบ เพราะเครื่องวัดดังกล่าวไม่สามารถชดเชยกำลังการเพ่งที่เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในเด็กที่มีโอกาสผิดพลาดสูง
 
-    เครื่องวัดไม่ได้มาตรฐานทำให้ได้ค่าสายตาที่ไม่ถูกต้องและขาดความแม่นยำ

-    ผู้วัดขาดความรู้ความเข้าใจในการตรวจวัดค่าสายตา

-    มีการชดเชยค่าสายตาเอียงที่มีด้วยการเพิ่มค่าสายตาสั้น เพื่อลดผลข้างเคียงในการปรับตัวและการปฏิเสธการใช้แว่นตาคู่นั้น

-    มีการใช้แผ่นตรวจวัดที่ระยะต่ำกว่ามาตรฐาน 6 เมตร ทำให้ผู้ถูกตรวจมีการใช้กำลังการเพ่ง ค่าสายตาสั้นที่ได้จึงสูงเกินจำเป็น เช่น ใช้แผ่นตรวจวัดที่ระยะ 3 เมตร ซึ่งจะมีการใช้กำลังการเพ่ง 0.33 diopters เป็นต้น

-    ผู้ใช้ชินกับค่าสายตาสั้นที่มากเกินอยู่ก่อนหน้าซึ่งให้ความสว่างมากกว่า การลดค่าสายตาสั้นลงทำให้รู้สึกว่าการมองเห็นแย่ลงโดยเฉพาะในตอนกลางคืน

-    ในคนที่มีสายตาสั้นสองข้างต่างกัน ผู้ตรวจบางคนอาจเลือกปรับค่าสายตาให้ต่างกันลดลงเพื่อลดผลข้างเคียงในการปรับตัว (ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด) จึงอาจทำให้ตาข้างหนึ่งอาจได้รับค่าสายตาสั้นที่มากเกินไปได้

เราจะพบว่ากระบวนการวัดสายตาทั่วไปมีโอกาสที่จะได้ค่าสายตาสั้นที่เกินได้ง่าย อย่างไรก็ตามค่าสายตาสั้นที่เกินไม่มากมักจะไม่พบปัญหาในเด็กและวัยรุ่น เพราะมีกำลังการเพ่งที่สูง (เช่น ในเด็ก 10 ขวบ อาจมีกำลังการเพ่งได้มากถึง 14 diopter) แต่เมื่ออายุมากขึ้นกำลังในการเพ่งจะค่อยๆ ลดลง (เช่น อายุ 40 จะเหลือกำลังการเพ่งเพียง 4.50 diopters) ทำให้เมื่อไปวัดค่าสายตาใหม่จึงได้ค่าสายตาสั้นที่ลดลงเรื่อยๆ และยังคงให้การมองเห็นที่ดีได้นั้นเอง

นอกจากนี้ในคนที่สายตาสั้นไม่มากซึ่งแสงจากวัตถุระยะไกลจะตกก่อนถึงจอตาเล็กน้อย แต่เมื่ออ่านหนังสือแสงจากตัวอักษรก็จะตกใกล้จอตามากขึ้น ในคนกลุ่มนี้เมื่อมีภาวะสายตายาวสูงอายุร่วม (40 ปีขึ้น) จึงสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่จำเป็นต้องสวมแว่นสายตาใดๆ 

ด้วยเหตุผลข้างต้นหลายคนที่สายตาสั้นและมีค่าสายตาลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น บวกกับสามารถอ่านหนังสือได้ด้วยตาเปล่าเมื่อมีภาวะสายตายาวสูงวัยร่วมหลังอายุ 40 จึงเกิดความเข้าใจผิดและคิดว่าภาวะสายตาสั้นมีการเปลี่ยนแปลงกลับมาได้นั้นเอง ในความเป็นจริงแล้วภาวะสายตาสั้นที่มีอยู่เกือบจะคงที่หลังอายุ 16 ปี นักทัศนมาตรสามารถตรวจวัดและให้ค่าสายตาสั้นที่ถูกต้องได้ตามวิธีการตรวจวัดทางมาตรฐานสากล