เทคนิคการเลือกเลนส์แว่นตา : เพื่อสุขภาพดวงตาและความคุ้มค่า

                                                                                                                                                         19 กรกฎาคม 2560         
เชื่อว่าหลายคนมักจะมีคำถามมากมาย เมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดแว่นตาคู่ใหม่ เช่น
-    เลือกใช้เลนส์ยี่ห้ออะไรดี?
-    เลือกเลนส์ธรรมดาหรือเลนส์ย่อบาง?
-    เลือกเลนส์สต็อกหรือเลนส์แล็ป?
-    กรอบแบบนี้ใช้เลนส์อะไรไม่แตกง่าย?
-    ต้องเคลือบมัลติโคท? เคลือบกันยูวี?
-    เลนส์ป้องกันแสงสีฟ้าจำเป็นหรือไม่?
-    เป็นต้น

ต้องยอมรับว่าการเลือกใช้เลนส์แว่นตาเป็นอะไรที่ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะด้วยตัวสินค้าที่ยากในการแยกความแตกต่าง เลนส์ทุกคู่ดูใสเหมือนกัน คุณสมบัติต่างๆ ก็ยิ่งยากในการพิสูจน์ ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าเลนส์สายตาหนึ่งคู่เราจ่ายเพื่อให้ได้อะไรบ้าง

-    จ่ายค่าเลนส์ที่มีค่าสายตาตามที่ต้องการจากโรงงานที่ผลิตเลนส์
-    จ่ายค่าเครื่องมือในการตรวจวัดสายตา เช่น เครื่องวัดสายตาอัตโนมัติที่ดีราคาครึ่งล้านบาท ชุดตรวจวัด Phoropter ที่ดีราคาหลายแสนบาท
-    จ่ายค่าคนตรวจวัดสายตา เช่น โรงพยาบาล นักทัศนมาตร ช่างแว่นตา  
-    จ่ายค่าฝนเลนส์ให้เข้ากับกรอบแว่น เลนส์จากโรงงานมาเป็นวงกลมต้องมาทำการฝนให้ได้รูปทรงตามกรอบแว่นตารูปทรงต่างๆ เครื่องฝนที่ดีมีความถูกต้องและแม่นยำ ปัจจุบันมีราคาสูงมากสุดถึงเกือบ 2 ล้านบาท
-    จ่ายค่าประกอบเลนส์และดัดแว่นด้วยเครื่องมือเฉพาะ เพื่อให้ได้พารามิเตอร์ที่ถูกต้องและสวมใส่ได้สบาย

ต่อมาเรามาดูกันว่าในเลนส์หนึ่งชิ้นที่จ่ายนั้นมีอะไรประกอบอยู่บ้าง
-    ค่าสายตาที่ถูกต้องบนเลนส์ มีคุณสมบัติทางแสงที่ดีและมีความบิดเบือนภาพน้อย
-    วัสดุที่มีดัชนีหักเหแสง เช่น 1.50, 1.56, 1.60, 1.67, 1.74 เพื่อความบางของเลนส์ที่เหมาะสมกับค่าสายตา
-    ความทนทานของวัสดุ เช่น โพลีคาร์บอเนต เป็นเลนส์นิรภัยที่ไม่แตกเหมาะสำหรับแว่นตาเด็กหรือคนที่มีตาทีดีเพียงข้างเดียว สำหรับกรอบแว่นตาแบบเจาะ หรือแบบเซาะร่องรอบตัว เพื่อป้องกันเลนส์แตก ร้าว
-    โครงสร้างเลนส์แบบโค้ง, แบบแบน และ แบนบางพิเศษ
-    การเคลือบมัลติโคทเพิ่มความสามารถในการส่งผ่านแสง ลดแสงสะท้อนที่ผิวเลนส์ เลนส์ดูใสมากขึ้น
-    ป้องกันรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อดวงตาได้
-    เคลือบแข็งกันรอย เพิ่มความลื่น เพื่อยืดอายุเลนส์จากการใช้งานปกติ (ไม่ใช้กันรอยจากการกระแทกของแข็ง)
-    เคลือบเปลี่ยนสีอัตโนมัติเมื่อออกแดด เพื่อลดแสงจ้าในคนที่มีอาการแพ้แสง
-    เคลือบตัดแสงสีฟ้า เพื่อลดความเข้มแสงสีฟ้าบนจอดิจิตอลที่มีปริมาณสูงที่ทำให้ตาล้าได้ง่ายหากใช้งานเป้นเวลานาน

การเลือกเลนส์สายตาที่จำเป็นต่อสุขภาพของดวงตา
-    อันดับแรกให้เลือกผู้ผลิตเลนส์มาตรฐาน เพื่อช่วยให้ได้เลนส์ที่มีคุณภาพทั้งค่าสายตาและคุณสมบัติทางแสง 
-    เลือกชนิดวัสดุเลนส์ เช่น เลนส์โพลีคาร์บอเนตสำหรับเด็กหรือกรณีที่มีตาดีเพียงข้างเดียว
-    เลือกเลนส์ที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้อย่างต่ำ 380 นาโนเมตรตามมาตรฐานทางอเมริกา
-    เลือกเคลือบมัลติโคทเพื่อเพิ่มคุณสมบัติทางแสงของเลนส์

การเลือกคุณสมบัติเลนส์ที่ต้องการเพิ่มเติม
-    เลือกการเคลือบเพื่อให้เลนส์เปลี่ยนสีอัตโนมัติเมื่ออกแดดในคนที่มีอาการแพ้แสงจ้า
-    เลือกการเคลือบเพื่อตัดแสงสีฟ้า เมื่อมีการใช้งานหน้าจอดิจิตอลเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน
-    เลือกเพื่อความสวยงาม บาง แบน โดยเลือกโครงสร้างเลนส์แบบแบนและบาง
-    เลือกกรอบแว่นตาที่มีน้ำหนักเบา
-    เลือกย้อมสีต่างๆ ถ้ามีอาการแพ้แสง

การเลือกเลนส์ให้มีความคุ้มค่ากับงบประมาณ
-    เลือกร้านและเลนส์ที่มีความน่าเชื่อถือ
-    เลือกกรอบแบบที่มีวัสดุหุ้มเต็มรอบเลนส์ ทำให้ลือกสามารถใช้เลนส์วัสดุมาตรฐานที่ราคาถูกได้
-    ในคนสายตาสั้น ให้เลือกกรอบค่อนข้างกลมและไม่ใหญ่มากเพื่อไม่ให้ขอบเลนส์หนา จึงไม่ต้องใช้เลนส์ย่อบางที่มีราคาสูง
-    เลือกกรอบที่ไม่โค้งมาก เพื่อเลี่ยงที่ต้องสั่งใช้เลนส์พิเศษที่มีราคาแพง
-    เลือกใช้เลนส์สต็อกแทนเลนส์แล็ป ซึ่งมีราคาถูกกว่า
-    ในคนที่มีสายตายาวใช้เลนส์บวกขอบเลนส์จะบางอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้เลือกเลนส์ย่อบางอีก
-    ถ้าสายตาสั้นมากให้เลือกกรอบพลาสติก กลมและมีขนาดเล็ก เมื่อฝนเลนส์เข้ากรอบแล้วจะดูไม่หนามาก
-    เลือกใช้โครงสร้างเลนส์แบบแบน เพื่อให้ได้เลนส์บางในกรณีที่เป็นสายตาสั้นมากเท่านั้น   
-    เลือกใช้เลนส์ดัชนีหักเห 1.56 แทน 1.60 ในค่าสายตาที่สูงแต่ไม่มาก เช่น ไม่เกิน -4.00
-    หากต้องการแว่นตาที่มีน้ำหนักเบาให้เลือกกรอบที่เบา เพราะน้ำหนักกรอบจะมีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับเลนส์

สุดท้ายสำคัญที่เลือกใช้เลนส์จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานและร้านแว่นตาที่เชื่อถือได้ การใช้งานด้วยความระมัดระวังอย่างถะนุถนอม และให้การดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ทำให้แว่นตามีอายุการใช้งานที่ยาวนานและให้ความคุ้มค่าได้มากที่สุด