วิธีการอ่านค่าสายตาที่ได้จากเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ

19 สิงหาคม 2560

หลายคนคงเคยวัดสายตาด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ เมื่อวัดเสร็จเรียบร้อยก็จะกดปุ่มสั่งพิมพ์ค่าสายตาที่วัดได้ให้เรา พร้อมแจ้งว่ามีค่าสายตาเป็นอย่างไร สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ทีนี้เรามาดูกันว่าค่าสายตาที่ได้มานั้นเค้าอ่านเป็นค่าสายตากันอย่างไร และแต่ละค่ามีความหมายอย่างไร

ก่อนอื่นเรามาปูพื้นเรื่องความผิดปกติทางสายตาสักเล็กน้อย คนที่มีค่าสายตาผิดปกติจะมีกำลังการหักเหแสงของดวงตาที่ผิดปกติเมื่อมองไกลทำให้ความสามารถในการมองไกลเห็นด้อยลง ความผิดปกตินั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท (และอีกประเภทสำหรับปัญหาสายตามองใกล้ก็คือสายตายาวสูงอายุ) คือ

- สายตาสั้น (Nearsightedness or myopia) มองใกล้ชัดมองไกลไม่ชัด
- สายตายาวแต่กำเนิด (Farsightedness or hyperopia) มองไกลชัด มองใกล้ไม่ชัดหรือมีปัญหาในการมองใกล้
- สายตาเอียง (Astigmatism) ทั้งไกลและใกล้ ไม่เบลอ ไม่ชัด

ค่าสายตายังแบ่งออกตามชนิดการหักเหแสงได้เป็น 2 ชนิด
-    Sphere สายตาสั้นหรือยาว
-    Cylinder and axis สายตาเอียงและองศาเอียง

สายตาสั้นแก้ไขด้วยเลนส์เว้าหรือเลนส์ลบ สายตายาวแก้ไขด้วยเลนส์นูนหรือเลนส์บวกและสายตาเอียงแก้ไขได้ด้วยเลนส์เอียง หากสายตาเอียงเกิดร่วมกับสายตาสั้นหรือสายตายาวจะแก้ไขด้วยเลนส์ชนิด Spherocylinder

ค่าสายตาที่เราวัดได้นั้นคือ กำลังเลนส์ที่ต้องการเพื่อใช้แก้ไขการหักเหแสงของดวงตาที่ผิดปกติให้ความสามารถในการมองเห็นกลับเป็นปกติใกล้ที่เคียงกับคนส่วนใหญ่ ค่าสายตาที่วัดได้จึงประกอบด้วยค่าสายตาสั้นหรือค่าสายตายาว และ/หรือค่าสายตาเอียงถ้ามี ที่ระบุร่วมกับองศาเอียง

ดังนั้นค่าสายตาจึงประกอบด้วย
-    SPH (sphere) ค่าสายตาสั้นที่บอกด้วยเลนส์ลบ หรือค่าสายตายาวที่บอกด้วยเลนส์บวก,
-    CYL (cylinder) ค่าสายตาเอียงที่ส่วนใหญ่บอกเป็นเลนส์ลบ ส่วนน้อยที่เป็นเลนส์บวก
-    AX (Axis) ค่าองศาเอียงของเลนส์เอียง

ตัวอย่างเช่น
 <R>        SPH        CYL        AX
               -1.75        -0.50        95
               -2.00        0.00        
               -2.00        0.00    
 ………………………………………………………………
               -2.00        0.00        
            
-    ค่าสายตา คือ -2.00
-    ความหมาย คือ สายตาสั้น 200 ไม่มีสายตาเอียงร่วม

<L>         SPH        CYL         AX
               -0.75        -0.50        38        
               -0.50        -0.75        48
               -0.50        -0.75        55        
……………………………………………………………………………………………………..
               -0.50        -0.75        48        

PD = 64        NPD = 60 (40)

-    ค่าสายตา คือ -0.50 -0.75 x 48
-    ความหมาย คือ สายตาสั้น 50 สายตาเอียง 75 องศาเอียง 48

ใบบันทึกอาจพบค่าอื่นๆ เช่น
-    D หมายถึง diopter หน่วยของกำลังเลนส์
-    VD หมายถึง cornea vertex distance ระยะห่างจากกระจกตาถึงเลนส์แว่นตา เช่น 12 มิลลิเมตร
-    PD หมายถึง interpupillary distance at distance ระยะห่างของกึ่งกลางตาทั้งสองข้างขณะมองไกล เช่น 64 มิลลิเมตร
-    R1, R2 หมายถึง รัศมีความโค้งของกระจกตาที่บอกเป็นหน่วยมิลลิเมตร, หน่วย diopter และองศา
-    SE หมายถึง Spherical equivalent ค่าสายตาสั้นหรือยาวที่ได้คำนวณชดเชยค่าสายตาเอียงที่มีทั้งหมด
-    NPD หมายถึง interpupillary distance at near ระยะห่างของกึ่งกลางตาทั้งสองข้างขณะมองใกล้ที่ได้จากการคำนวณ เช่น 60 มิลลิเมตร ที่ระยะอ่านหนังสือ 40 เซนติเมตร

ค่าสายตาที่ได้จากเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ มักจะใช้เป็นเพียงค่าอ้างอิงเพราะวิธีวัดแบบนี้มีข้อด้อยหลายอย่าง เช่น
-    ไม่สามารถควบคุมการทำงานของระบบเพ่งได้
-    ไม่สามารถทำสมดุลการใช้ระบบเพ่งของตาทั้งสองได้
-    ผู้ถูกวัดไม่มีส่วนร่วมหรือไม่ได้วัดความสามารถในการมองเห็นที่แท้จริง เป็นต้น

ดังนั้น ค่าสายตาที่ได้จากค่าวัดอัตโนมัติจึงต้องทำการวัดเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ ร่วม เพื่อให้ได้ค่าสายตาที่ถูกต้อง ส่วนการสวมแว่นทดลองตามร้านแว่นตานั้น เป็นการให้คนไข้ได้ลองใส่ค่าสายตาที่ถูกต้องในสภาพแวดล้อมจริง (ห้องตรวจที่มาตรฐานจะกระทำในห้องลดแสงสว่าง เพื่อควบคุมการทำงานของระบบเพ่ง) และดูการปรับตัวต่อการใช้งานจริงซึ่งสามารถทำการปรับปรุงค่าสายตาได้บ้างเพื่อช่วยให้สามารถใช้งานจริงได้ดี