การเปลี่ยนค่าแว่นตาให้เป็นค่าคอนแทคเลนส์ได้อย่างไร


8 February 2018 

หลายคนอาจสงสัยว่าเราจะเปลี่ยนค่าสายตาที่ใช้กับแว่นตา หรือค่าสายตาที่วัดได้ไปเป็นค่าของคอนแทคเลนส์ได้อย่างไร บทความนี้จะให้คำตอบได้ โดยปกติการวัดค่าสายตาด้วยวิธีต่างๆ ค่าที่ได้จะเป็นค่าสำหรับการประกอบเลนส์แว่นตา เพราะตำแหน่งเลนส์ที่ใช้วัดวางห่างจากกระจกตาประมาณ 12 มิลลิเมตร ในขณะที่คอนแทคเลนส์จะวางบนกระจกตาโดยตรง ดังนั้นเมื่อต้องการเปลี่ยนค่าสายตาที่วัดได้หรือค่าแว่นตาที่ใช้อยู่ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี

-    การคำนวณชดเชยระยะ (Compensate power)

-    ดูค่าจากตารางที่ทำไว้สำเร็จ (Conversion table) ซึ่งสามารถขอดูได้ตามร้านแว่นตาทั่วไป

ก่อนอื่นเพื่อให้ง่ายขึ้นให้ใช้ความจำเล็กน้อยดังนี้
-    ค่าสายตาทั้งสั้นและยาวที่น้อยกว่า 4.00 หรือ 400 ค่าคอนแทคจะเท่ากับค่าแว่นตา
-    กรณีค่าสายตาสั้นตั้งแต่ -400 ค่าคอนแทคจะน้อยกว่าค่าแว่นตา
-    กรณีสายตายาวตั้งแต่ +400 ค่าคอนแทคจะมากกว่าค่าแว่นตา (พบได้น้อย)
-    ระยะห่างจากเลนส์แว่นตาถึงกระจกตาประมาณ 12 มิลลิเมตร หรือ 0.012 เมตร

การเปลี่ยนค่าสายตาเอียงไปเป็นค่าสายตาสั้นเทียบเท่า

ในบางคนที่มีค่าสายตาเอียงร่วมต้องหาค่าสายตาเทียบเท่าก่อน (เพื่อให้ได้ภาพที่ดีบนจอตา) หรือที่เรียกว่า Spherical equivalent เพราะคอนแทคทั่วไปส่วนใหญ่ไม่มีค่าสายตาเอียงขาย โดยการเอาครึ่งหนึ่งของค่าสายตาเอียงที่มีไปรวมกับค่าสายตาสั้นทั้งเครื่องหมาย เช่น

-2.00 – 1.00 x 90 ค่าสายตาสั้นเทียบเท่า เท่ากับ -2.00 + (– 1.00/2) = -2.50

+1.00 – 0.50 x 180 ค่าสายตายาวเทียบเท่า เท่ากับ +1.00 + (-0.50/2) = +0.75

การเปลี่ยนค่าสายตาสั้นไปเป็นค่าคอนแทคเลนส์

วิธีการ ให้เอา 1 หารด้วยค่าสายตาสั้นได้เท่าไรให้ลบออก 0.012 แล้วเอาค่าที่ได้ไปหาร 1 อีกทีจะได้เป็นค่าของคอนแทค

เช่น สายตาสั้น -5.50 หรือ -550

1/(-5.50) - 0.012 = -0.1818 - 0.012 = -0.1938

ค่าคอนแทค = 1/(-0.1938) = -5.16 หรือ -5.25 หรือ -525

ค่ากำลังเลนส์จะเป็นขั้นๆ ละ 0.25 ดังนั้นจึงปัดทศนิยมให้ใกล้ค่า 0.00, 0.25, 0.50 หรือ 0.75

ถ้ามีค่าสายตาเอียงร่วมด้วยให้คำนวณหาค่าสายตาสั้นเทียบเท่ามาก่อน

เช่น สายตาสั้น -4.00-0.50x180

ค่าสายตาสั้นเทียบเท่าเท่ากับ -4.00 + (-0.50/2) = -4.50

1/(-4.25) - 0.012 = -0.2353 - 0.012 = -0.2473

ค่าคอนแทค = 1/(-0.2473) = -4.04 หรือ -4.00 หรือ -400

การเปลี่ยนค่าสายตาจากค่าแว่นตาไปคอนแทคในกรณีที่ไม่มีค่าสายตาเอียงร่วมนั้น ถ้ามีค่าสายตาน้อยกว่า 400 สามารถใช้ค่าเดียวกันได้เลย แต่ถ้ามีค่าสายตาตั้งแต่ 400 ขึ้นไป จะต้องทำการชดเชยค่ากำลังเลนส์ของระยะจากแว่นตาถึงกระจกตา ทำให้ค่าสายตาสั้นบนคอนแทคลดลง (ส่วนกรณีที่มีสายตายาวค่าคอนแทคจะสูงขึ้น) ส่วนกรณีที่มีสายตาเอียงร่วมจะต้องทำการหาค่าสายตาสั้นเทียบเท่าก่อนจึงจะไปคำนวณหาค่าคอนแทคได้

หลายคนอาจมีคำถามว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ลดค่าคอนแทคสำหรับสายตาสั้นลงบ้าง คำตอบที่เป็นไปได้คือการใช้ความรู้สึกว่าคอนแทคอยู่ใกล้ตามากกว่าจึงควรใช้ค่าที่น้อยกว่านั้นเอง นอกจากนี้อาจกังวลถึงผลกระทบหลังการใช้เพราะคอนแทคไม่สามารถลองใช้ได้หากใช้ไม่ได้จำเป็นต้องทิ้งแล้วซื้อใหม่นั้นเอง 

อย่างไรก็ตามหากมั่นใจว่าค่าสายตาหรือค่าแว่นตาที่ใช้อยู่ถูกต้องและสามารถใช้งานได้ดี ก็สามารถใช้ค่าคอนแทคได้ตามวิธีการข้างต้นที่จะให้ภาพที่ดีและคมชัดได้ใกล้เคียงแว่นสายตามากที่สุด