ผลของแสงสีฟ้าจากจอดิจิตอลต่อวงจรนาฬิกาชีวิต

31 พฤษภาคม 2561

ผลกระทบของแสงสีฟ้าจากหน้าจอดิจิตอลที่มีการกล่าวถึงกันอย่างมากในตอนนี้ นอกจากอันตรายต่อการเสื่อมของจอประสาทตาแล้ว ส่วนหนึ่งยังมีผลต่อวงจรนาฬิกาชีวิตด้วยเช่นกัน เราลองมาดูกันว่าแสงสีฟ้าที่ได้รับจากจอดิจิตอลจะมีผลต่อนาฬิกาวงจรชีวิตได้อย่างไร

นานมาแล้วที่มีการพบว่า กลไกการทำงานของร่างกายเรามีความสัมพันธ์กับแสงสว่างที่ได้รับ เพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงทำให้เกิดเป็นนาฬิกาชีวิต หรือ Circadian clock หรือ Biological clock เช่น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นดวงตาได้รับแสงสว่าง ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ตื่นเตรียมพร้อมที่จะทำงานในวันนั้น อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้น ระบบประสาทรับรู้ต่างๆ พร้อมที่จะทำงาน

ในทางกลับกันเมื่อตะวันลับขอบฟ้า แสงสว่างรอบๆ ตัวลดลง กล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง เพื่อให้ร่างกายได้เข้าสู่การพักผ่อนนอนหลับนั้นเอง โดยพบว่าร่างกายมีกระบวนการในการหลั่งสารฮอร์โมนที่มีชื่อว่า เมลาโทนิน (Melatonin) เพื่อทำให้กล้ามเนื้อต่างๆของร่างกายเกิดการผ่อนคลาย และทำให้เกิดการพักผ่อนนอนหลับนั้นเอง

จนเมื่อเร็วๆ นี้ (คศ. 2002) มีการค้นพบเซลที่จอประสาทตาชนิดใหม่นอกเหนือจาก Rod และ Cones ที่เรารู้กันมานานที่มีหน้าที่ในการรับแสงจากวัตถุและแปลงเป็นสัญญาณภาพนั้น เซลชนิดใหม่นี้มีชื่อว่า Melanopsin ganglion cells พบว่าเซล Melanopsin มีความสัมพันธ์ต่อการทำงานของวงจรนาฬิกาชีวิตมนุษย์ และเป็นสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าดวงตาไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะเพื่อการมองเห็นอย่างที่เข้าใจกันที่ผ่านมานาน

การทำงานของเซล Melanopsin ต้องการแสงสว่างที่มีความเข้มสูง และพบว่า Melanopsin มีความไวเป็นพิเศษต่อแสงสีฟ้าช่วงความยาวคลื่นแสง 480 นาโนเมตร ในการทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งของสารฮอร์โมนเมลาโทนิน มีการศึกษาพบว่าหากดวงตาได้รับแสงสว่างจากหลอดไฟ LED จากหน้าจอดิจิตอลเป็นเวลา 2 ชั่วโมง สามารถยับยั้งการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนินได้และมีผลให้นาฬิกาวงจรชีวิตในการนอนถูกรบกวนได้

การได้รับแสงจากหน้าจอดิจิตอลที่มีความเข้มของแสงสีฟ้าสูงนั้น โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนเข้านอนอาจทำให้กระบวนการในการหลั่งของสารฮอร์โมนเมลาโทนินของร่างกายถูกยับยั้งไป และส่งผลให้วงจรนาฬิกาชีวิตถูกรบกวน เช่น ช่วงเวลาของการนอนถูกเลื่อนออกไป

ดังนั้น ในคนที่มีความจำเป็นต้องอยู่หน้าจอดิจิตอลเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน การเลือกสวมแว่นตาเลนส์กรองแสงสีฟ้านอกจากจะลดความเสี่ยงในการเสื่อมของจอประสาทตาลงแล้ว ยังช่วยให้กลไกการหลั่งของสารฮอร์โมนเมลาโทนินของร่างกายไม่ถูกรบกวน และวงจรนาฬิกาชีวิตทำงานได้เป็นปกติ

การเลือกใช้เลนส์กรองแสงสีฟ้า หากเลนส์กรองแสงนั้นมีการกรองแสงสีฟ้าม่วงทีความยาวคลื่นแสงช่วง 480 นาโนเมตรร่วมด้วย อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติของการหลั่งสารฮอร์โมนเมลาโทนินได้ ซึ่งทำให้วงจรนาฬิกาชีวิตของร่างกายทำงานผิดปกติได้ คล้ายภาวะ Jet lag จากการนั่งบนเครื่องบินเป็นเวลานาน หรือคนที่ทำงานในตอนกลางคืนอย่างต่อเนื่อง หรือในคนตาบอด เกิดอาการ เช่น เวลาในการนอนเปลี่ยนแปลงไป ขาดความกระตือรือร้นต่อการทำกิจกรรมต่างๆ การรับรู้ช้าลง เป็นต้น ดังนั้นควรเลือกใช้เลนส์กรองแสงเฉพาะสีฟ้าม่วงที่มีช่วงความยาวคลื่น 420 นาโนเมตร จึงมีความจำเป็นในการเลือกผู้ผลิตที่ดีและได้มาตรฐาน