เลนส์ถูกแพงเลือกอย่างไร: วิธีการเลือกเลนส์สายตาให้ประหยัด

10 มกราคม 2562

หลายๆ คนอาจมีความสงสัยว่าเวลาตัดแว่นตานั้น ทำไมเลนส์สายตาจึงมีทั้งถูกมากและแพงมากอะไรทำให้ราคาของเลนส์นั้นต่างกันได้อย่างมาก หากเราดูเฉพาะเลนส์สายตาชั้นเดียวสำหรับแก้ไขมองไกลหรือมองใกล้คู่หนึ่งมีอะไรบ้างที่สามารถทำให้ราคาต่างกันได้

ค่าสายตา เป็นตัวแรกที่กำหนดราคาเลนส์ เลนส์แบ่งเป็นสต็อกกับแล็ป เลนส์สต็อกคือเลนส์สำเร็จรูปที่ผลิตไว้สำหรับค่าสายตาเพื่อคนส่วนใหญ่ เช่น สายตาสั้นไม่เกิน -6.00 D เป็นการผลิตครั้งละมากๆ จึงมีต้นทุนต่ำ ส่วนเลนส์แล็ปผลิตทีละคู่ตามค่าสายตานั้นๆ หรือบางอย่างที่เลนส์สต็อกไม่มี เช่น เลนส์ย้อมสี ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า

กรอบแว่นตา แบ่งออกตามลักษณะได้ 3 ชนิด คือ
-    กรอบเต็ม เป็นกรอบที่ล้อมรอบเลนส์ทำให้เลนส์ได้รับป้องกัน ไม่แตกหักง่าย สามารถใช้ได้กับเลนส์ทุกวัสดุ
-    กรอบเซาะร่อง เซาะร่องเลนส์เพื่อยึดด้วยไนล่อนหรือโลหะ เลนส์อาจแตกหักได้จำเป็นต้องใช้วัสดุที่เหนียว
-    กรอบเจาะ ยึดเลนส์โดยการเจาะรู จึงต้องการเลนส์ที่มีคุณสมบัติเหนียวพิเศษ เพื่อป้องกันแตกหรือร้าวได้
กรอบแว่นตาชนิดเซาะร่องและเจาะรู ต้องการวัสดุเลนส์ที่มีความเหนียวสูงทำให้มีราคาสูงขึ้นตาม นอกจากนี้เลนส์สต็อกยังมีการจำกัดขนาดวงเลนส์ การเลือกกรอบที่ใหญ่มากอาจทำให้ไม่สามารถเลือกใช้เลนส์สต็อกได้

วัสดุเลนส์ ที่ใช้กันทั่วไปคือ CR 39 ที่มีดัชนีหักเห 1.49 เหมาะสำหรับค่าสายตาสั้นไม่เกิน -2.00 D เพราะขอบเลนส์หนาและไม่เหมาะกับกรอบเซาะร่องหรือเจาะ เพราะวัสดุไม่เหนียวพอ ถัดมาเป็นเลนส์ 1.55 หรือ 1.56 คล้ายเลนส์ 1.49 แต่จะบางกว่า เหมาะกับค่าสายตาสั้นไม่เกิน -4.00 D ต่อมาเป็น 1.60 ที่เรียกว่าเลนส์ย่อบางเหมาะกับค่าสายตาสั้นถึง -6.00 D ถัดมาเลนส์ 1.67, 1.74, 1.76 คล้ายเลนส์ 1.60 แต่จะบางขึ้นจึงเหมาะกับค่าสายตาสั้นที่มากกว่า -6.00 D ขึ้นไป เลนส์บางทั้งหมดมีความเหนียวพอกับกรอบเซาะร่องกับเจาะได้ ราคาสูงตามค่าดัชนีหักเหที่เพิ่มขึ้น

วัสดุเลนส์อีกกลุ่มที่เรียกว่า Safety lenses เช่น Polycarbonate เลนส์กลุ่มนี้จะมีความเหนียวเป็นพิเศษ ไม่แตกหักและย่อบาง เหมาะกับแว่นตาเด็ก คนที่จำเป็นต้องปกป้องดวงตาเป็นพิเศษ คนที่เหลือตาข้างเดียว หรือใช้กับกรอบเจาะทำให้ความทนทาน ไม่แตกหัก

โครงสร้างเลนส์ ค่าสายตาหนึ่งจะทำได้หลายรูปแบบ เช่น ค่าสายตาสั้น -1.00 D เลนส์จะมีความโค้งด้านหน้าน้อยกว่าด้านหลัง 1.00 D เช่น 4.00/5.00 D, 5.00/6.00 D, 6.00/7.00 เป็นต้น ตามทฤษฎีของ Tsherning ค่าสายตาหนึ่งจะมีโค้งที่เหมาะสมที่ให้การมองเห็นที่ดีสุด เลนส์แต่ละค่าสายตาจึงต้องมีความโค้งที่เหมาะสมทำให้เกิดสินค้าคงคลังที่สูงขึ้น

การเคลือบผิวเลนส์ เพิ่มคุณสมบัติหลายประการ เช่น ความใส กรองแสง ลดฝุ่นและรอยนิ้วมือ ทำความสะอาดง่าย มีอายุการใช้งานนานขึ้น และเพิ่มคุณสมบัติที่มีผลต่อสุขภาพของดวงตา เช่น ตัดแสงยูวี ตัดแสงสีฟ้า เป็นต้น กล่าวได้ว่าเลนส์ที่ดีคือการเคลือบผิวที่ดี ปัจจุบันผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงเน้นทางด้านเทคโนโลยีในการเคลือบผิวเลนส์

เทคนิคในการเลือกเลนส์สายตาชั้นเดียวให้ประหยัดและคุ้มค่า
-    เลือกกรอบเต็มก่อนและให้มีขนาดที่เหมาะสมไม่ใหญ่เกินไป
-    เลือกใช้เลนส์สต็อกก่อนเสมอ
-    หากมีค่าสายตาสั้นสูง ให้เลือกกรอบพลาสติกจะทำให้ได้แว่นที่ดูไม่หนามาก
-    เลือกดัชนีหักเหของเลนส์ที่เหมาะสมกับค่าสายตา เช่น สายตาสั้นไม่เกิน -2.00 D เลือกใช้เลนส์ดัชนีหักเห 1.50 เป็นต้น
-    หากต้องการแว่นตาที่เบาให้เลือกกรอบที่มีน้ำหนักเบาเป็นหลัก
-    เลือกเลนส์เคลือบมัลติโคทและกันยูวีได้ 100% ทุกครั้ง การเคลือบอื่นๆ พิจารณาตามความจำเป็น
-    เลนส์มาตรฐานทุกคู่จะมีใบรับประกันจากผู้ผลิต และหากเป็นเลนส์แล็ปสามารถระบุชื่อบนใบรับประกันได้
-    ขอใบรับประกันเลนส์ ค่าสายตา และรายละเอียดของเลนส์ที่เลือกใช้ทุกครั้ง
-    อาการแพ้แสงจ้าส่วนหนึ่งเกิดจากการมีสายตาเอียง แก้ไขให้ถูกต้องก่อนค่อยพิจารณาใช้เลนส์กรองแสง
-    เมื่อย ล้าตา อาจเกิดจากสายตายาวและ/หรือเอียงได้ แก้ไขสายตาก่อนค่อยพิจารณาใช้เลนส์คลายการเพ่ง