จอตาลอก : แนวทางการแก้ไขการมองเห็นหลังการผ่าตัดจอตา

23 July 2562

จอตา (Retina) เป็นอวัยวะที่สำคัญมากสำหรับการมองเห็น จอตานอกจากทำหน้าที่เกิดภาพแล้วยังทำหน้าที่แปลงพลังงานแสงที่ได้รับจากวัตถุเป็นปฏิกิริยาและพลังงานทางเคมีผ่านกระบวนการที่ชื่อว่า Phototransduction ให้เป็นสัญญาณทางประสาทและส่งต่อให้กับสมองส่วนของการมองเห็น

จอตามีความหนาประมาณ 50 ไมคอน ประกอบด้วยสิบชั้น ชั้นในสุดคือ Retinal pigmented epithelium (RPE) ทำหน้าที่หลักในการดูดกลืนแสง ส่วนที่เหลือทำหน้าที่ทางสัญญาณประสาท จอตาชั้นนอกสุดสัมผัสกับวุ้นในตา (Vitreous) ที่ทำหน้าที่รักษาให้จอตาและดวงตาคงรูปได้ จอตามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 42 มิลลิเมตร ส่วนสำคัญของจุดรับภาพชัด (fovea) ที่เป็นจุดรวมแสงมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มิลลิเมตร

โรคจอตาลอก หรือ Retinal detachment (RD) ส่วนมากเกิดจากการแยกของชั้น RPE ออกจากชั้นสัญญาณประสาท ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
-    การแยกตัวของวุ้นในตาที่ไม่สมบูรณ์ เมื่ออายุมากขึ้นวุ้นในตาจะค่อยๆ หดตัวลงและแยกจากจอตาตามปกติ แต่หากการแยกนี้ไม่สมบูรณ์และวุ้นในตาได้ไปดึงบางส่วนของชั้นจอตาให้แยกออก
-    เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การได้รับแรงกระแทกที่ดวงตาทำให้ความดันภายในตามีเปลี่ยนแปลงอย่างมากและรวดเร็ว ทำให้จอตาเกิดการฉีกขาดหรือปริซึ่งอาจจะแสดงอาการในทันที หรือแสดงอาการในภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปก็ได้
-    เกิดจากแผลเป็นจากหลอดเลือดที่รั่วจากโรคเบาหวานขึ้นตาที่ชั้นวุ้นตาไปดึงชั้นจอตาให้แยกและฉีกขาด
-    มีการรั่วของหลอดเลือดหรือของเหลวภายในจอตา และไปสะสมที่ช่องว่างระหว่างชั้น RPE กับชั้นสัญญาณประสาททำให้จอตาบวมจนไปดันให้แยก ปริ หรือฉีกขาดได้
-    อื่นๆ

เมื่อจอตาเกิดการแยกตัวหรือฉีกขาดอาการสำคัญที่พบได้ก็คือ เกิดแสงวาบขึ้นในลักษณะคล้ายพบเห็นฟ้าแลบ หรือเหมือนมีแสงแฟลซ์เข้าสู่ดวงตาจากการที่แสงรอดตามชั้นแยก รู หรือรอยฉีกขาด หากพบเร็วและอาการไม่มากการรักษาทำได้โดยการยิงแสงเลเซอร์เข้าไปที่ตำแหน่งฉีกขาดนั้น ให้รอยแยกนั้นปิดลงและป้องกันไม่ให้แยกเพิ่มออกอีก แต่หากมีการฉีกขาดขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อเย็บรอยฉีกขาดนั้น ผลการมองเห็นหลังผ่าตัดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่ฉีกขาดของจอตา การฉีกขาดที่ใกล้จุดรับภาพชัดมักให้ผลการมองเห็นที่ไม่ค่อยดีนัก

หลังการผ่าตัดอาจต้องพักเป็นเวลา 1-2 เดือน และบางรายอาจจำเป็นต้องผ่าตัดต้อกระจกตามมาอันเป็นผลข้างเคียงของการผ่าตัด หลังผ่าตัดภาพที่ได้บนจอตาอาจจะไม่สมบูรณ์ ในรายที่เสียหายมากอาจพบว่าภาพในตาข้างที่ผ่าตัดไปรบกวนภาพของตาข้างที่ดีทำให้การมองเห็นโดยรวมแย่ลง เกิดภาพสับสน (Confusion image) จากภาพสองตาที่คมชัดต่างกันมากมาซ้อนทับกัน ทำให้เกิดอาการไม่สบายในการใช้สายตา ดังนั้นกรณีนี้การกำจัดภาพในตาข้างที่เสียหายจะทำให้การมองเห็นโดยรวมดีขึ้น

โดยปกติเราจะมองเห็นวัตถุหนึ่งๆ ด้วยตาสองข้างที่ให้ภาพเป็นภาพเดียวที่มีความคมชัดสูง หากเราสูญเสียภาพในการมองเห็นไปข้างหนึ่ง ซึ่งที่เราจะสูญเสีย คือ
-    สนามภาพโดยรวมลดลงจาก 180 เหลือ 150 องศาโดยประมาณ
-    สูญเสีย Contrast sensitivity หรือความสามารถในการแยกวัตถุออกจากฉากหลัง
-    ความสามารถในการกะระยะวัตถุรอบตัวลดลง

แนวทางแก้ไขการมองเห็นหลังการผ่าตัดจอตา
-    หากภาพที่ได้ค่อนข้างดี การเลือกสวมแว่นสายตาที่ได้ค่าสายตาที่ถูกต้องจะให้การมองเห็นได้เกือบปกติ และเป็นการป้องกันรักษาสุขภาพดวงตาอีกด้วย
-    หากภาพที่ได้ไม่ค่อยดีนัก อาจเลือกทำให้ภาพนั้นเบลอมากพอแล้วให้กระบวนการทางสมองตัดการรับรู้ภาพ (Suppression) ในตาข้างนั้นออก เพื่อลดการสับสนของการรวมภาพสองตา
-    ในบางคนระบบตัดภาพของสมองทำงานไม่สมบูรณ์ อาจเลือกใช้วิธีปิดกั้นทางเดินแสงเข้าสู่ดวงตาด้วยการใส่คอนแทคเลนส์ชนิด Completed tinting contact lens ในตาข้างนั้น
-    เลือกสวมใส่แว่นสายตาที่ให้ค่าสายตาที่ถูกต้อง และยังเป็นการป้องกันอันตรายที่จะมีต่อดวงตา 

สรุป
การผ่าตัดจอตาภาพที่ได้หลังการผ่าตัดจะขึ้นกับขนาดและตำแหน่งการฉีกขาดเป็นสำคัญ กรณีภาพที่ได้ไม่ดีนักอาจเลือกวิธีการทำให้ดวงตาตัดการรับรู้ภาพ (Suppression) แต่ถ้าระบบตัดภาพของดวงตาทำงานได้ไม่สมบูรณ์ยังมีการรบกวนของภาพจากตาข้างที่ผ่าตัดมาทำให้การรวมภาพจากสองตาไม่ดีเท่าที่ควร เราอาจเลือกใช้วิธีการปิดกั้นแสงเข้าสู้ดวงตาเพื่อกำจัดการรวมภาพที่สับสนออกไป โดยให้เหลือเพียงภาพที่ดีที่สุดภาพเดียวจากตาอีกข้าง หลังจากนั้นให้ทำการแก้ไขค่าสายตาข้างที่ดีด้วยแว่นตาและเลือกใช้เลนส์ที่สามารถป้องกันความเสียหายต่อดวงตา เช่น Safety lenses, UV protection lenses เป็นต้น