ตาเหล่ซ้อนเร้น : คืออะไร อาการ และ แนวทางการแก้ไข

15 ตุลาคม 2562

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่าตาเหล่ ตาเข ตาซ่อน ตาเอก อาการแสดงที่เราสามารถสังเกตเห็นได้เหล่านี้เราเรียกว่า ตาเหล่ตาเข นอกจากนี้ยังมีอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ตาเหล่ซ้อนเร้น ที่เราไม่สามารถสังเกตอาการแสดงได้ในภาวะปกติ แต่อาจมีอาการในรูปแบบอื่นๆ แม้แก้ไขค่าสายตาที่มีทั้งหมดแล้ว เช่น เห็นภาพซ้อนในบางครั้ง เมื่อยล้าตา บทความนี้เรามาทำความเข้าใจในเรื่องของตาเหล่ซ้อนเร้น

ปกติตาเราเมื่อมองตรงไปที่วัตถุดวงตาทั้งสองจะอยู่ในแนวเดียวกับวัตถุนั้น อันเป็นผลจากพัฒนาการของตำแหน่งตาตั้งแต่เด็ก ในขณะที่เราอายุน้อยกว่า 6 เดือนเมื่อนอนหลับดวงตาจะไหลออกไปอยู่ในตำแหน่งเรียกว่า Anatomical position of rest เพราะกล้ามเนื้อดวงตายังขาดประสาทตามาควบคุมเช่นเดียวกับคนที่ตาย เมื่อระบบประสาทgibj,ทำงานและเกิดพัฒนาการ ทำให้ดวงตามาอยู่ที่ตำแหน่ง Physiological position of rest  
คนส่วนใหญ่ตำแหน่งของ Physiological position of rest จะคลาดกับตำแหน่งเมื่อมองวัตถุที่ระยะไกล ความผิดปกตินี้ดวงตาจะชดเชยด้วยกลไกของ Binocular fusion เพื่อให้ดวงตาอยู่ในตำแหน่งที่ตรงและทำให้เกิดการรวมภาพจากทั้งสองตาให้เป็นภาพเดียว เราเรียกความผิดปกตินี้ว่า Heterophoria หรือ ตาเหล่ซ้อนร้อน นั้นเอง

หากเราปิดตาข้างหนึ่งจะพบว่าตาข้างนั้นจะไปอยู่ที่ตำแหน่งของ Physiological position of rest อาจเป็นด้านนอก ใน บน หรือด้านล่างก็ได้ แต่ละคนอาจแตกต่างกันได้ทั้งขนาดและทิศทาง

คนส่วนใหญ่ตาเหล่ซ้อนเร้นที่มีจะไม่สร้างปัญหาในการใช้สายตาปกติ เพราะมีกำลังสำรองในการรวมภาพของ Binocular fusion ที่มากเพียงพอในการชดเชยตาเหล่ซ้อนเร้นที่มีอยู่ ในทางคลินิกพบว่าหากดวงตามีกำลังสำรองอย่างน้อยสองเท่าจะไม่พบปัญหา อย่างไรก็ตามในบางคนอาจพบปัญหาจากตาเหล่ซ้อนเร้นได้ เช่น
 
-    ขนาดของตาเหล่ซ้อนเร้นที่ค่อนข้างสูง
-    กำลังสำรองในรวมภาพของดวงตาลดลง   
-    ได้รับปริซึมจากแว่นสายตาโดยไม่ตั้งใจ
-    เมื่อใส่แว่นแก้ไขค่าสายตาสองข้างที่ต่างกันมากพอ เป็นต้น

ตาเหล่ซ้อนเร้นอาจเกิดอาการ เช่น
-    แสดงอาการตาเหล่ตาเขได้ในบางเวลา เช่น เหม่อลอย อ่อนเพลีย พักผ่อนน้อย
-    มองเห็นภาพซ้อนในบางเวลา บางระยะ หรือบางทิศทาง
-    เมื่อยล้า ตาง่าย
-    ปวดเบ้าตา ปวดศีรษะ เมื่อมีการใช้สายตามากกว่าปกติ
-    อ่านตัวหนังสือข้ามบรรทัด มีอาการแพ้แสง เป็นต้น

เรารวมเรียกปัญหาเหล่านี้ว่า Vergence disorders แนวทางในการแก้ไข คือ
-    ลดปริมาณความต้องการกำลังสำรองในการรวมภาพลง
-    เพิ่มกำลังสำรองในการรวมภาพให้มากเพียงพอ
วิธีการแก้ไขจะใช้แนวทางใดอยู่กับชนิดของตาเหล่ตาเขซ้อนเร้น เช่น
-    ใช้เลนส์สายตา เช่น ตาเหล่เข้าซ้อนเร้นเนื่องจากการเพ่ง
-    ใช้เลนส์ปริซึม เช่น ตาเหล่ออกระยะไกล
-    การฝึกบริการกล้ามเนื้อตา เช่น ตาเหล่ออกมากกว่าปกติ
-    ใช้หลายวิธีร่วมกัน
    
สรุป
บางคนเมื่อได้รับการแก้ไขค่าสายตาทั้งหมดที่มีแล้วหรือคนที่ตรวจแล้วไม่พบว่ามีค่าสายตา แต่เมื่อใช้สายตาพบว่ามีปัญหา เช่น ปวดเบ้าตา ปวดศีรษะ เห็นภาพซ้อนในบางครั้ง มีอาการแพ้แสง เป็นต้น อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากภาวะตาเหล่ซ้อนเร้นที่มี การแก้ไขเป็นไปได้หลายวิธี เช่น แว่นสายตา เลนส์ปริซึม การบริหารกล้ามเนื้อตา เป็นต้น