Aniseikonia: ปัญหาขนาดภาพที่ต่างกันบนจอตาของแว่นสายตา

                                                                                                                                                             10 December 2019

การที่เรามีตาสองข้างนอกจากเผื่อการสูญเสีย เพราะดวงตามีความสำคัญมากต่อพัฒนาการของมนุษย์ และยังมีประโยชน์อย่างมากในงานที่ต้องการรายละเอียด การกะระยะห่างวัตถุรอบตัว ให้ Contrast sensitivity ที่สูงขึ้น เป็นต้น

แต่การมีสองตาก็อาจเป็นเหตุให้เราละเลยถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในตาข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ภาวะสายตาขี้เกียจ ที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับการรวมภาพของสองตาให้เป็นหนึ่ง

การมีสองตานั้นนอกจากปัญหาทางด้านกล้ามเนื้อตาที่ทำให้เกิดอาการตาเหล่ ตาเข แล้ว การมีค่าสายตาสองข้างที่ต่างกันหรือในคนที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ต้อกระจกมาเพียงข้างเดียวเป็นการชั่วคราว เมื่อทำการแก้ไขด้วยแว่นสายตาแล้ว ปัญหาหนึ่งที่อาจพบได้คือขนาดภาพบนจอตาที่ต่างกัน (Aniseikonia) บางคนที่มีค่าสายตาสองข้างต่างกัน และเมื่อสวมแว่นสายตาที่แก้ไขค่าสายตานั้น อาจพบอาการเหล่านี้
-    ไม่สบายในการใช้สายตา อ่านหนังสือได้สั้นลง
-    ตึงเบ้าตา ปวดศีรษะ โดยเฉพาะหลังการใช้สายตาระยะใกล้
-    แพ้แสง แสบตา ตึงเบ้าตา
                                                                                    -    มองเห็นภาพซ้อนในบางครั้ง
                                                                                    -    รู้สึกเหมือนมีการใช้ตาเพียงข้างเดียว

ดวงตาจะมีกลไกหนึ่งที่เรียกว่า Binocular Fusion ทำหน้าที่ในการรวมภาพบนจอตาทั้งสองให้เป็นหนึ่งเดียว โดยภาพทั้งสองต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม (Horopter) มีรูปร่าง และ ขนาดที่ใกล้เคียงกัน (Shape and Size similarly) เนื่องจากเลนส์สายตาที่ทำหน้าที่ในการเลื่อนจุดรวมภาพ แต่มีผลข้างเคียงทางด้านขนาดภาพ

-    สายตายาว ต้องการเลนส์บวก ให้ผลข้างเคียงขยายขนาดภาพของวัตถุ
-    สายตาสั้น ต้องการเลนส์ลบ ให้ผลข้างเคียงหดขนาดภาพของวัตถุ

ตัวอย่างเช่น แว่นตาอ่านหนังสือที่มีขายทั่วไปจะให้ขนาดภาพที่ใหญ่ขึ้น นั้นเอง

ในกรณีที่ตาสองข้างมีค่าสายตาที่ไม่เท่ากันเราเรียกว่า Anisometropia การใช้แว่นสายตาในคนกลุ่มนี้อาจพบปัญหาในเรื่องของขนาดภาพที่ต่างกันเรียกว่า Aniseikonia อันเป็นผลให้ภาพบนจอตาทั้งสองมีขนาดที่ต่างกัน (ตำแหน่งถูกต้อง รูปร่างปกติ แต่ขนาดต่างกัน) ปัญหาที่อาจพบได้ทั่วไป เช่น แว่นสายตาใช้งานได้ไม่สบายตา ปวดศีรษะ มึน หนักสุดอาจไปถึงการมองเห็นภาพซ้อน (Diplopia) และสุดท้ายอาจตัดการรับรู้ภาพของตาข้างใดข้างหนึ่งอันนำไปสู่ภาวะสายตาขี้เกียจ (Amblyopia)

ในทางคลินิกพบว่าขนาดภาพสองตาที่ต่างกัน

-    1-3% อาจพบปัญหาความไม่สบายตาในการใช้งานแว่นสายตาได้

-    3-5% ระบบรวมภาพทำงานหนัก ปวดตา ปวดศีรษะ แพ้แสง และ/หรือพบปัญหาการมองเห็นภาพซ้อน

-    มากกว่า 5% มีโอกาสที่ดวงตาจะตัดการรับรู้ภาพในตาข้างใดข้างหนึ่ง

คนที่มีค่าสายตาสองข้างต่างกันมากกว่า 2 ไดออปเตอร์ หรือในแกนใดแกนหนึ่งของสายตาเอียง อาจพบปัญหาของขนาดภาพที่ต่างกันได้เมื่อมีการแก้ไขด้วยแว่นสายตา

การแก้ไขปัญหาของขนาดภาพที่ต่างกันอย่างง่ายสุด โดยการเลือกใช้คอนแทคเลนส์ซึ่งจะให้ผลข้างเคียงของขนาดภาพที่น้อยกว่า แต่ในกรณีที่ยังมีความต้องการใช้แว่นสายตา การลดปัญหาของขนาดภาพสามารถทำได้ด้วยการออกแบบเลนส์พิเศษที่เรียกว่า Aniseikonia lens โดยอาศัยความรู้ทางด้านทฤษฎีแสงและเลนส์ และ การคำนวณหาค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ขนาดภาพบนจอตาทั้งสองใกล้เคียงกันโดยให้กระทบต่อความสามารถในการมองเห็นน้อยที่สุด

สรุป

กรณีที่มีค่าสายตาสองข้างที่ต่างกัน เช่น คนที่ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกเพียงข้างเดียว เมื่อการแก้ไขค่าสายตาด้วยแว่นแล้วพบปัญหาในการใช้งานที่ไม่สบายตา ปวดตา ปวดศีรษะ แพ้แสง มีการมองเห็นภาพซ้อน อาจมาจากปัญหาทางด้านขนาดภาพที่ต่างกันบนจอตาได้ แนะนำให้พบนักทัศนมาตรเพื่อทำการตรวจวัด วินิจฉัย และแก้ไขปัญหาดังกล่าว