เล่นโทรศัพท์ตอนกลางคืนทำให้สายตาสั้นได้จริงหรือไม่

30 มกราคม 2563

คำถามข้างบนนี้เรามักพบได้บ่อย บทความนี้เราลองมาหาคำตอบกัน ก่อนอื่นเรามาเริ่มกันที่ว่าสายตาสั้น ยาว เอียง ที่พบในคนทั่วไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยกเว้นสายตายาวสูงอายุ มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง

คนที่สายตาสั้น ยาว เอียง คือคนที่มีความสามารถในการมองเห็นด้อยกว่าคนส่วนใหญ่ ยกเว้นคนที่สายตายาวอาจมีความสามารถในการมองเห็นระยะไกลที่ดีกว่าแต่ระยะใกล้ก็อาจพบปัญหา ส่วนค่าสายตาก็คือค่ากำลังเลนส์บนแว่นสายตาที่ต้องการเพื่อให้ความสามารถในการมองเห็นเท่ากับคนปกติ

สาเหตุของการมีค่าสายตาเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย คือ

-          ความโค้งของกระจกตาที่ผิดปกติ

-          ช่องว่างระหว่างกระจกตากับม่านตา หรือ Anterior chamber ที่ผิดปกติ

-          เลนส์แก้วตาที่ผิดปกติ

-          ความยาวลูกตาที่ผิดปกติ

-          - ตัวกลางผ่านแสงที่ผิดปกติ เป็นต้น

ยกตัวอย่างคนที่มีสายตาสั้นอาจเกิดจาก

-          - กระจกตาที่โค้งมากผิดปกติ

-          - ช่องว่าง anterior chamber ลึกกว่าปกติ

-          - เลนส์แก้วตามีความโค้งมากผิดปกติ

-          - ลูกตามีความยาวมากผิดปกติ

ทางคลินิกพบว่าค่าสายตาของคนส่วนมากเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันไม่มีที่ผิดปกติชัดเจน ยกเว้นกรณีสายตาสั้นมาก ๆ เช่น สั้น 400 ขึ้นไป จะความยาวลูกตาสูงกว่าปกติ สั้นมากกว่า 1000 กรรมพันธุ์มีส่วน เป็นต้น จะพบว่าค่าสายตาไม่ว่าสั้น ยาว เอียง มีสาเหตุมาจากโครงสร้างลูกตาซึ่งเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของแต่ละคน  และเมื่อดวงตามีพัฒนาการโตเต็มที่แล้วค่าสายตาก็จะคงที่ด้วยเช่นกัน ทางคลินิกพบว่าส่วนใหญ่พัฒนาการของดวงตาจะเริ่มโตเต็มที่หลังอายุ 16 ในบางคนอาจช้าหรือเร็วกว่านี้ได้บ้าง

เราทราบแล้วว่าค่าสายตาเกี่ยวข้องกับโครงสร้างกายภาพดวงตา ในทางคลินิกมีการพบว่าการเพ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านความยาวลูกตา การใช้กำลังเพ่งอย่างหนักในเด็กช่วงพัฒนาการเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกตามีแนวโน้มยาวมากขึ้นกว่าปกติได้ 

การมองไกลที่ระยะ 6 เมตรดวงตาใช้กำลังการเพ่ง 0.16 diopters ขณะที่ใช้โทรศัพท์ระยะ 30 เซนติเมตร ดวงตาจะต้องการกำลังเพ่งถึง 3.3 diopters หรือมากกว่า 20 เท่า หากเป็นการใช้โทรศัพท์ในที่มืดซึ่งรูม่านตาต้องเปิดกว้างมากยางขึ้น แสงที่ผ่านกระจกตาที่กว้างขึ้นทำให้เกิดความคลาดเลนส์เป็นผลให้ภาพที่ได้ เบลอ ไม่คมชัด สังเกตจากการมองเห็นในตอนกลางคืนจะด้อยกว่าตอนกลางวัน นอกจากนี้จอโทรศัพท์ในปัจจุบันที่ให้ความเข้มแสงสีฟ้าสูง ก็ให้ยิ่งให้ภาพที่ด้อยลงเช่นกัน

เมื่อภาพบนจอด้อยลง กลไกการเพ่งของดวงตาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพยายามแก้ไขภาพนั้น ดังนั้นการใช้โทรศัพท์ในที่มืดระบบเพ่งจะยิ่งทำงานหนักมากกว่าปกติ พัฒนาการลูกตาในเด็กที่ใช้โทรศัพท์ในที่มืดก็จะมีแนวโน้มที่ยาวมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดสายตาสั้นจึงมีมากขึ้น หรือหากมีสายตาที่สั้นอยู่แล้วก็จะสั้นมากขึ้น      

สรุป

การใช้โทรศัพท์ในที่มืดของเด็กก่อนที่ดวงตาจะหยุดพัฒนาการ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นได้หรือหากสายตาสั้นอยู่แล้วก็มีโอกาสจะสั้นมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพบว่าแสงสีฟ้ามีผลต่อวงจรการนอนซึ่งมีความสำคัญมากในช่วงพัฒนาการของเด็ก