Thyroid Eye Disease: ปัญหาการมองเห็นภาพซ้อนผลจากโรคไทรอยด์และการแก้ไขด้วยเลนส์ปริซึม

                                                                            11 มิถุนายน 2563

โรคไทรอยด์ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุของระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ในกรณีที่ระบบภูมิคุ้มกันไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติหรือที่เรียกว่า Graves’ Disease จะทำให้ต่อมไทรอยด์มีการผลิตฮอร์โมนมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันที่บกพร่องนี้ยังส่งผลต่อเนื้อเยื่อรอบ ๆ เกิดการอักเสบ

โดยเฉพาะดวงตาและเซลล์ของกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตา เซลล์ของกล้ามเนื้อตาเหล่านี้จะเกิดการขยายเพิ่มขนาดให้ใหญ่มากขึ้น ด้วยพื้นที่จำกัดภายในเบ้าตาทำให้ลูกตาถูกดันออกมาด้านนอกเกิดภาวะตาโปน เปลือกตาปิดได้ไม่สนิท ทำให้เกิดอาการตาแห้ง ตาแดง มองเห็นไม่ชัด ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาลดลง และอาจเกิดพังผืดขึ้นรัดรอบกล้ามเนื้อทำให้เกิดอาการตาเหล่ตาเขและมองเห็นเป็นภาพซ้อนขึ้น ความผิดปกติทางตาที่เป็นผลจากโรคไทรอยด์เรียกว่าโรค Thyroid Eye Disease หรือ TED

โดยปกติลูกตาถูกขึงให้อยู่ในตำแหน่งมองตรงได้ด้วยกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตา 6 มัดที่ทำงานตลอดเวลาแม้เวลานอนหลับ และในขณะลูกตาเคลื่อนไหวไปทิศทางหนึ่งจะมีกล้ามเนื้อตามัดหนึ่งที่จะได้รับสัญญาณทางประสาทเพิ่มขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นทำงานเพิ่มขึ้นในการดึงลูกตาไปยังทิศทางที่ต้องการ ขณะเดียวกันก็จะมีกล้ามเนื้อตาอีกมัดหนึ่งที่คู่กันจะถูกลดสัญญาณทางประสาทลงเพื่อให้ลูกตาสามารถเคลื่อนไหวได้ดี โรค TED มักส่งผลต่อกล้ามเนื้อตามัดที่ทำหน้าที่ในการดึงลูกตาลงล่าง จึงทำให้เกิดอาการตาเหล่ตาเขและการมองเห็นภาพซ้อนในแนวดิ่ง

TED มักพบหลังการกำเริบของโรคไทรอยด์ส่วนน้อยอาจพบอาการทางตานำมาก่อน หากการรักษาโรคไทรอยด์ทำได้ทันท่วงที TED จะไม่ลุกลามไปมากและกลับมาเป็นปกติได้ หากมีอาการมองเห็นภาพซ้อนในระหว่างการรักษาโรคอาจเลือกปิดตาข้างหนึ่ง หรือเลือกใช้แว่นตาเลนส์ปริซึมช่วยในการรวมภาพเพื่อแก้ไขปัญหาภาพซ้อนนั้น

เมื่ออาการของโรคไทรอยด์สงบลงแล้วหากยังคงมีอาการมองเห็นภาพซ้อนเหลืออยู่ การสวมแว่นตาเลนส์ปริซึมจะช่วยให้การมองเห็นเป็นภาพเดียวและดำรงชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ บางรายที่มีขนาดมุมเหล่กว้างมากอาจมีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตา เพื่อดึงให้ดวงตากลับมาอยู่ในตำแหน่งตั้งตรงและให้การมองเห็นภาพกลับมาเป็นปกติ