หลักการจ่ายค่าสายตายาวแต่กำเนิด

 
26 มิถุนายน 2563

เรามักจะพบได้บ่อยของปัญหาการจ่ายค่าเลนส์บวกสำหรับคนที่มีสายตายาวแต่กำเนิด หรือที่เรียกว่า Hyperopia ที่เหมาะสม ถึงแม้คนที่สายตายาวแต่กำเนิดอาจจะมองดูว่าตนเองมีสายตาที่ดีมากในการมองไกล แต่คนที่มีสายตายาวแต่กำเนิดนั้น บ่อยครั้งที่มีความไม่สบายตาโดยเฉพาะในการใช้สายตามองใกล้ เพราะเขาเหล่านี้มีการใช้งานของระบบการเพ่งอยู่ตลอดเวลา และหลายคนมีปัญหาต่อเนื่องไปถึงการทำงานของสองตาร่วม และอาจมีความยากต่อการคลายการเพ่งด้วยเลนส์บวกด้วย ทำให้บ่อยครั้งที่จ่ายเลนส์บวกแล้วคนไข้มองเห็นแย่ลงหรือไม่สามารถลดปัญหาความไม่สบายตาที่มีอยู่ได้

อะไรคือสายตายาวแต่กำเนิด   
ก่อนอื่นเรามาดูนิยามของสายตายาวแต่กำเนิดกัน แน่นอนว่าต้องเป็นมาตั้งแต่กำเนิดเพราะยังมีสายตายาวอีกประเภทหนึ่งที่เราเรียกว่าสายตายาวสูงวัยซึ่งเป็นเรื่องของความเสื่อมของเลนส์แก้วตาที่พบในคนสูงวัยที่เรียกว่า Presbyopia สายตายาวแต่กำเนิดโดยนิยามจะหมายถึงแสงขนานที่มาจากวัตถุที่อยู่ระยะไกลเดินทางเข้าสู่ดวงตาในสภาวะที่ไม่มีการเพ่ง เมื่อเกิดการหักเหแสงแล้วตกลงที่ด้านหลังของจอประสาทตา เราเรียกลักษณะของสายตาประเภทนี้ว่าสายตายาวแต่กำเนิด หรือ Hyperopia

จะเห็นว่าระบบเพ่งของคนสายตายาวซึ่งทำงานอย่างอัตโนมัตินั้น จะทำงานทันทีที่ลืมตาเพื่อดึงภาพของวัตถุที่อยู่หลังจอประสาทตาให้ตกลงบนจอตา ส่งผลให้คนที่มีสายตายาวแต่กำเนิดเป็นคนที่มีสายตาดีในการมองวัตถุที่อยู่ระยะไกลๆ และพบว่าในวัยเด็กส่วนใหญ่จะมีสายตายาวตั้งแต่เกิดซึ่งภาวะสายตายาวนี้จะค่อยๆ ลดลงจากการพัฒนาการของลูกตาที่เจริญเติบโตขึ้น ส่วนในคนที่เป็นสายตายาวแต่กำเนิดจะมีพัฒนาการของกระบอกตาที่สั้นกว่าปกติทำให้เกิดภาวะสายตายาวแต่กำเนิดขึ้นนั้นเอง

อาการและอาการแสดงของคนสายตายาวแต่กำเนิด
1.    เด็กที่มีสายตายาวแต่กำเนิดที่มีอายุน้อยกว่า 8 ขวบและไม่ได้รับการแก้ไขเรื่องของสายตาทันท่วงที จะมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นโรคตาขี้เกียจชนิด Refractive Amblyopia ได้มากกว่าเด็กที่มีปัญหาสายตาอื่นๆ เพราะในสายตาข้างที่ยาวมากกว่าภาพที่ตาได้รับจะเบลออยู่ทุกระยะและตลอดเวลา ตาข้างนี้จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นโรคสายตาขี้เกียจ

2.    ในเด็กที่มีปัญหาสายตายาวแต่กำเนิดสูงจะมีอาการตาเขเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้เพราะคนที่มีสายตายาวระบบเพ่งจะทำงานตลอดเวลา ซึ่งทำให้ตามีการหันเข้า หรือ Convergence ตลอดเวลาเช่นกัน จึงพบว่ามีโอกาสที่จะเป็นโรคตาเหล่หรือตาเขเข้าได้

3.    คนที่มีสายตายาวแต่กำเนิดมักจะมีอาการไม่สบายตา ปวดศีรษะ โดยเฉพาะเวลาอ่านหนังสือและมักจะอ่านหนังสือได้ไม่นานพอ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กล้ามเนื้อตาส่วนเพ่ง หรือ Ciliary Muscle อยู่ตลอดเวลา
4.    คนที่มีสายตายาวแต่กำเนิดมีโอกาสเกิดอาการค้างของระบบการเพ่งชั่วขณะ หรือที่เรียกว่า Accommodative Spasm จากการทำงานระยะใกล้อย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลานานของกล้ามเนื้อตาส่วนเพ่ง ทำให้ระบบเพ่งค้างและมองไกลจะเบลอชั่วขณะ

5.    คนสายตายาวแต่กำเนิดการคลายตัวของระบบเพ่งจะเป็นไปได้ยาก ระบบการเพ่งที่ทำงานมาเป็นเวลานานเมื่อได้รับเลนส์บวกเพื่อให้คลายการทำงานจึงค่อนข้างยาก ทำให้ไม่สบายตาและเห็นภาพเบลอในช่วงแรกของการใช้แว่นสายตาและใช้เวลาในการปรับตัวเข้ากับแว่นตาคู่ใหม่พอสมควร
 
ชนิดของสายตายาวแต่กำเนิด
เนื่องจากคนที่มีสายตายาวแต่กำเนิดนั้นระบบเพ่งจะทำงานตลอดเวลา ดังนั้นการหาค่าสายตายาวแต่กำเนิดจึงค่อนข้างยุ่งยากกว่าสายตาประเภทอื่น ประเภทของค่าสายตายาวแต่กำเนิด ได้แก่   

1.    Latent Hyperopia ประเภทของสายตายาวส่วนที่ชดเชยด้วยการทำงานของกล้ามเนื้อตาเพ่ง หรือ Ciliary     Muscle ที่ไม่สามารถหาค่าได้นอกจากการหยอดยาสลายการทำงานของกล้ามเนื้อทั้งหมดเท่านั้น

2.    Facultative Hyperopia ประเภทของสายตายาวที่มีบางส่วนของการเพ่งชดเชยร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นค่าสายตา    ยาวแต่กำเนิดที่เราสามารถหาได้ด้วยวิธีการต่างๆ

3.    Absolute Hyperopia ประเภทของสายตายาวที่ระบบเพ่งไม่สามารถชดเชยให้ได้ ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุซึ่ง    กำลังการเพ่งลดลง ถ้าอ่าน VA chart ที่ระยะ 6 เมตรได้น้อยกว่า20/20 แสดงว่ามี Absolute Hyperopia     ร่วมอยู่ด้วย

4.    Manifest Hyperopia เป็นค่าของสายตายาวที่ได้จากวิธี Subjective test โดยการทำ Fogging ที่    เหมาะสม เพื่อคลายการทำงานของระบบเพ่งบางส่วนนอกเหนือจาก Latent Hyperopia ส่วนค่าของสายตา    ยาวที่ได้จากเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติจะไม่แน่นอนเพราะมีการเพ่งร่วมด้วย
   
หลักการจ่ายค่าสายตายาวแต่กำเนิด   
การจ่ายค่าเลนส์ให้กับคนสายตายาวแต่กำเนิด จำเป็นจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยเสมอ เพื่อให้ได้แว่นตาสายตายาวที่เหมาะสมสำหรับคนไข้นั้นๆ เช่น อายุ อาการและอาการแสดง ความสามารถในการมองเห็น การทำงานสองตาร่วม เป็นต้น การจ่ายค่าสายตานี้จึงไม่ได้ทำเพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่มองเห็นได้ดีอยู่แล้ว แต่เป็นการจ่ายเพื่อการป้องกันและแก้ปัญหาที่มีผลข้างเคียงของสายตายาวแต่กำเนิด

1.    สายตายาวแต่กำเนิดในเด็กเล็ก
ในเด็กเล็กที่มีปัญหาสายตายาวแต่กำเนิดนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงจะเป็นเรื่องของการเกิดปัญหาตาขี้เกียจชนิดที่เรียกว่า Refractive Amblyopia ซึ่งจะนำพาไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ตาขี้เกียจนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาของพัฒนาการระบบประสาทสองตาร่วมถูกขัดขวางด้วยภาพที่เห็นไม่ชัด ทำให้พัฒนาการชองเซลประสาทสองตาหยุดลงส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นภาพชัดอย่างถาวรและระบบการทำงานของสองตาร่วมก็จะสูญเสียไปด้วย เช่น ความสามารถในการเห็นภาพแบบสามมิติ ความสามารถในการกะระยะ เป็นต้น การแก้ไขให้กลับมาเป็นแทบจะเป็นไปไม่ได้

ในเด็กเล็กจนถึง 8 ขวบพัฒนาการของระบบสองตาร่วมยังไม่เต็มที่ จึงมีโอกาสที่จะเป็นโรคตาขี้เกียจขึ้นได้ ดังนั้นในเด็กเล็กที่มีปัญหาสายตายาว จึงต้องใช้วิธีการหยอดยาสลายการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนเพ่งที่เรียกว่า Cycloplegic Refraction เพื่อให้ได้ค่าสายตายาวชนิด Latent Hyperopia แว่นสายตายาวที่จ่ายให้ในเด็กเล็กพ่อแม่ควรได้รับการอธิบายถึงปัญหาและการแก้ไขรวมถึงความสำคัญของการที่จะต้องให้เด็กได้สวมใส่แว่นตาไว้ตลอดเวลา

2.    สายตายาวแต่กำเนิดในเด็กโต
ในเด็กโตที่มีปัญหาสายตายาวแต่กำเนิดอาจจะนำไปสู่ปัญหาของอาการตาเขเนื่องจากการเพ่ง หรือที่เรียกว่า Accommodative esotropia ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาการเกิด Suppression หรือการหยุดรับรู้ภาพในตาข้างนั้นในที่สุด ในเด็กโตอาจจะให้ค่าสายตายาวตามค่าของ Manifest ได้ แต่ถ้ามีอาการตาเขเข้าร่วมจำเป็นหาค่าสายตายาวชนิดต้องหยอดยาสลายการเพ่ง และจ่ายแว่นสายตายาวเต็มรวม Latent Hyperopia เพื่อแก้ไขปัญหาของอาการตาเขเข้าที่เกิดขึ้น พ่อ แม่ และตัวเด็กจะต้องได้รับการอธิบายถึงความสำคัญในการที่ต้องใส่แว่นสายตายาว เพราะเด็กวัยนี้มักจะไม่ชอบสวมแว่นตาซึ่งมีความแตกต่างจากเพื่อนๆ จึงจำเป็นอธิบายต้องให้เข้าใจถึงความสำคัญ และแว่นตาต้องทำให้สวมใส่ได้สบายและต้องไม่ให้ภาพเบลอมากจนเด็กรำคาญที่จะสวมใส่

3.    สายตายาวแต่กำเนิดในผู้ใหญ่
ปัญหาสายตายาวแต่กำเนิดในคนกลุ่มนี้มักจะทำให้มีปัญหาในการมองใกล้เป็นหลัก เช่น ไม่สบายตา มีอาการปวดศีรษะ มองไกลเบลอเมื่อมองใกล้นาน เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากอาการล้าของกล้ามเนื้อตาส่วนเพ่ง การจ่ายแว่นสายตายาวในคนกลุ่มนี้จึงต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาที่มีอยู่เป็นหลัก ค่าสายตายาวอาจเริ่มด้วยค่า Manifest ที่ระยะไกล 6 เมตร แต่แนะนำให้ใส่แว่นตานั้นเฉพาะตอนใช้งานในระยะใกล้ และหลังใช้งานไปช่วงหนึ่งให้กลับมาหาค่าสายตายาวอีกครั้ง และมักพบว่าคนไข้สามารถใส่แว่นมองได้ดีทั้งไกลและใกล้เมื่อใช้งานผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง

ในกรณีที่ยังคงมีอาการอยู่หลังจ่ายแว่นตัวแรกไปแล้ว อาจจะต้องให้ค่า Addition สำหรับเลนส์สองชั้นหรือโปรเกรสซีฟเพื่อลดอาการไม่สบายตาเมื่อมองใกล้และมองไกลได้ดี ส่วนคนไข้ที่มี Latent Hyperopia ซึ่งสังเกตได้จากการที่มีค่าสายตาของข้างเดียวหรือค่าจากเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติเป็นลบ แต่ค่าสายตาของสองตาให้ผลเป็นบวก ซึ่งคนไข้กลุ่มนี้หากยังไม่มีอาการอาจจะคงค่าสายตาเดิมไว้ แต่ถ้ามีอาการข้างเคียงของสายตายาวก็ให้จ่ายเลนส์บวกที่เหมาะสมเพื่อลดอาการข้างเคียงนั้น

4.    สายตายาวแต่กำเนิดในผู้สูงอายุ
ในผู้สูงอายุจะมีปัญหาของสายตายาวแต่กำเนิดชนิด Absolute ร่วมกับปัญหาสายตายาวสูงวัย หรือ Presbyopia ที่ทำให้มองเห็นไม่ชัดทั้งระยะไกลและระยะใกล้ คนกลุ่มนี้มักจะเข้าร้านแว่นตาในเรื่องของการอ่านหนังสือก่อนคนอื่นในวัยเดียวกัน ในขณะที่การมองเห็นในระยะไกลก็ด้อยลง ทั้งนี้เพราะคนที่มีสายตายาวแต่กำเนิดมีความต้องการกำลังเพ่งที่สูงกว่าคนที่มีสายตาปกติหรือสายตาสั้น เมื่อบวกกับความยืดหยุ่นของเลนส์แก้วตาที่ลดลงไปตามอายุ ของ Presbyopia ทำให้ความสามารถในการมองระยะใกล้ลดลงเร็วกว่าคนอื่น และ Absolute Hyperopia ก็ทำให้การมองไกลด้อยลง

การจ่ายค่าสายตายาวในคนกลุ่มนี้จึงต้องคำนึงถึงความต้องการใช้งานทั้งระยะไกลและระยะใกล้ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความสามารถในการคลายการเพ่งของคนวัยนี้ที่ลดลงด้วย ต้องระมัดระวังการให้ค่าสายตาบวกที่มากเกินไปค่าสายตายาวมองไกลอาจให้เริ่มครึ่งหนึ่งของค่า Manifest แล้วเพิ่มที่ละ +0.25 D เพื่อป้องกันการให้บวกที่มากเกินหรือ Over Plus แต่ยังคงให้การมองไกลที่ดีอยู่ ส่วนมองไกลให้ค่า Addition ที่สูงกว่าในคนทั่วไปที่ +0.25 ถึง +0.75 D ตามค่าสายตายาวแต่กำเนิดที่น้อยหรือมาก

สรุปหลักการจ่ายค่าสายตายาวแต่กำเนิด
1.    ในเด็กเล็กให้จ่ายค่าสายตายาวเต็มที่ได้จากค่า Cycloplegic Refraction เพื่อป้องกันโรคตาขี้เกียจ

2.    ในเด็กโตถ้ามีอาการตาเขเข้าให้จ่ายค่าสายตายาวเต็มที่ได้จากค่า Cycloplegic Refraction เพื่อทำให้ตากลับมาตรง

3.    ในผู้ใหญ่ให้จ่ายค่าสายตายาวมองไกลที่ได้จากค่า Manifest ในระยะไกลแต่ให้ใช้แว่นตาเพื่อการมองใกล้

4.    ในผู้สูงอายุให้จ่ายค่าสายตายาวเพื่อให้สามารถมองเห็นได้ดีทั้งไกลและใกล้และให้ระวังเรื่องในของ Over Plus

   


นายวิชัย ลัคนาทิน
นักทัศนมาตร, OD





เอกสารอ้างอิง
Kenneth E. Brookman, Refractive Management of Ametropia, Page 45-67