ภาวะสายตาเอียง (Astigmatism): นิยาม สาเหตุ ชนิดและแนวทางแก้ไขด้วยแว่นตา


 27 มิถุนายน 2563

ภาวะสายตาเอียง โดยนิยามจะหมายถึงภาวะที่แสงจากวัตถุหนึ่งเมื่อเดินทางเข้าสู่ดวงตาแล้ว เกิดกำลังการหักเหแสงที่ต่างกันขึ้นในแต่ละแกนของดวงตา ทำให้เกิดการรวมแสงที่ไม่เป็นหนึ่งเดียวหรือมีจุดรวมแสงที่มากกว่าหนึ่งนั้นเอง ซึ่งภาวะสายตาเอียงส่วนใหญ่จะมีแกนหนึ่งที่มีกำลังมากกว่าและอีกแกนหนึ่งที่ตั้งฉากกันจะมีกำลังที่อ่อนกว่า เราเรียกแกนทั้งสองนี้ว่า Principle meridians

สาเหตุของการเกิดภาวะสายตาเอียง
การเกิดภาวะสายตาเอียง มีสาเหตุหลักมาจากเรื่องความโค้งที่ผิดปกติของตัวกลางในการหักเหแสง ได้แก่
1.    ภาวะสายตาเอียงที่เกิดขึ้นที่กระจกตา (Corneal astigmatism)
-    ความผิดปกติที่ผิวโค้งด้านหน้าของกระจกตา
-    เป็นภาวะสายตาเอียงที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่และเป็นมาตั้งแต่เกิด
-    มีส่วนน้อยที่มาพบในภายหลัง เช่น โรคจากกระจกตาโป่ง (Keratoconus) ภาวะต้อเนื้อและการผ่าตัดต้อเนื้อ พฤติกรรมชอบขยี้ตาแรงๆ เป็นต้น
-    หาค่าได้ด้วยเครื่อง Keratometer

2.    ภาวะสายตาเอียงที่เกิดขึ้นภายในดวงตา (Internal astigmatism)
-    เกิดได้จากสองส่วนคือ ผิวโค้งของกระจกตาส่วนหลังกับตำแหน่งการวางตัวของเลนส์แก้วตาที่ไม่ตั้งฉากกับแสง
-    ค่าสายตาเอียงที่พบนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 0.50 D และเป็นแบบ against the rule
-    สายตาเอียงส่วนนี้มักจะถูกซ่อนจากการทำงานของระบบเพ่ง และจะตรวจพบได้เมื่อมีอายุมากขึ้น

3.    สายตาเอียงรวม (Refractive astigmatism)
-    เป็นค่าสายตาเอียงที่ได้จากการตรวจวัดสายตา
-    เป็นค่าสายตาเอียงรวมทั้ง Corneal และ Internal astigmatism

การเกิดภาพในของดวงตาที่มีภาวะสายตาเอียง
Principle meridians แต่ละแกนจะเกิดการรวมแสงหรือโฟกัสขึ้นอย่างละหนึ่งเส้น (การรวมแสงจะเป็นเส้นตรงในกรณีที่เป็นสายตาเอียง) แกนตั้งจะให้เส้นโฟกัสในแนวนอน และแกนนอนจะให้เส้นโฟกัสในแนวตั้ง ตำแหน่งกึ่งกลางทาง Optic ของเส้นโฟกัสทั้งสองเรียกว่า Circle of least confusion, CLC ระยะห่างทาง Optic ของทั้งคู่เรียกว่า Interval of sturm ส่วนภาพที่เกิดขึ้นจะมีความบิดเบือน (Distortion) ทุกจุด ยกเว้นภาพที่ตำแหน่งของ CLC ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นจะไม่มีความบิดเบือน แต่ภาพจะยังคงเบลอ

การมองเห็นภาพของคนที่มีภาวะสายตาเอียง
-    ในคนที่มีสายตาเอียงไม่มากการมองเห็นจะดี เพราะระบบเพ่งจะทำให้ภาพที่ตำแหน่ง CLC เลื่อนเข้าใกล้จอตา แต่จะมีอาการไม่สบายตาเมื่อมีการใช้สายตามากจากการทำงานของระบบเพ่ง
-    ถ้าค่าสายตาเอียงน้อย ขนาดของ Blur circle จะเล็ก ภาพจะเบลอน้อย ถ้าค่าสายตาเอียงสูง Blur circle นั้นจะมีขนาดใหญ่ ภาพจะเบลอมาก
-    การหรี่ตาของคนที่มีสายตาเอียงจะช่วยในการลดขนาดของ Blur circle ทำให้การมองงเห็นภาพดีขึ้นได้
-    ในคนที่มีสายตาเอียงแบบ Mixed astigmatism ที่ไม่มาก การมองเห็นจะเกือบเท่าปกติได้โดยอาจจะไม่มีอาการใดๆ
-    ในคนที่มีภาวะสายตาเอียงสูง การมองเห็นจะไม่ชัดทั้งระยะไกลและระยะใกล้ อาจมองเสาไฟฟ้าไกลเอียงได้บ้าง หรือแนวกำแพงตรงเป็นโค้ง
-    ในคนที่เดินคนเอียงหรือชอบเขียนหนังสือตัวเอียง ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีภาวะสายตาเอียง

อาการและอาการแสดง
1.    การมองเห็น
-    สายตาเอียงระดับต่ำการมองเห็นจะปกติ จะมีอาการตาล้าจากการเพ่งหากมีการใช้สายตามากๆ ได้
-    สายตาเอียงระดับสูงการมองเห็นจะไม่ค่อยดี โดยเฉพาะชนิด Oblique ที่แม้จะได้รับการแก้ไขด้วยแว่นตาก็อาจจะไม่ได้รับภาพที่ปกติ ในบางกรณีอาจนำไปสู่ปัญหาสายตาขี้เกียจได้
-    สายตาเอียงประเภท Mixed astigmatism ตำแหน่ง CLC จะอยู่ค่อนข้างใกล้จอตามาก ถ้าค่าสายตาเอียงที่ไม่มากการมองไกลจะค่อนข้างดีและไม่มีอาการล้าตา แต่การมองใกล้จะไม่สบายตาเพราะเมื่อมีการเพ่งการหาตำแหน่งของ CLC จะค่อนข้างยากทำให้คนไข้กลุ่มนี้มีการมองไกลดีมาก แต่จะมีปัญหาในการอ่านหนังสือและปวดตาจากการเพ่ง

2.    อาการไม่สบายตาในการใช้สายตา มีสาเหตุมาจากสิ่งเหล่านี้
-    มีการใช้กล้ามเนื้อเพ่งตลอดเวลาเพื่อให้ตำแหน่ง CLC วางที่ตำแหน่งจอตาหรือให้ใกล้จอตา ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าตา
-    มีอาการปวดศีรษะด้านหน้า ด้านขมับสองข้าง และมีอาการปวดบริเวณด้านล่างร่วมถ้ามีสายตาเอียงข้างเดียว
-    มีอาการปวดตา น้ำตาไหล จากการทำงานของระบบเพ่งที่มีตลอดเวลา
-    คนที่มีสายตาเอียงแบบ Oblique จะแสดงอาการมากกว่าถึงแม้จะมีค่าสายตาเอียงที่น้อยกว่าก็ตาม

3.    อาการแสดง ได้แก่
-    มีการหรี่เปลือกตาลดขนาดแสงจากวัตถุที่เข้าตา เพื่อลดความเบลอของภาพที่จอตา
-    มีการหรี่รูม่านตาจากการทำงานของระบบเพ่ง
-    ส่วนน้อยอาจพบโครงสร้างของดวงตาที่ผิดรูปได้ในกรณีที่มีค่าสายตาเอียงสูงๆ

4.    ในเด็กที่มีสายตาเอียงสูงๆ หรือสายตาเอียงข้างเดียวที่มากพอ หากไม่ได้รับการแก้ไขทันท่วงทีอาจนำไปสู่ปัญหาภาวะสายตาขี้เกียจได้

ประเภทของสายตาเอียง
1.    Regular astigmatism ภาวะสายตาเอียงที่มีแกน Principle meridians สองแกนที่ตั้งฉากกัน และสามารถแก้ไขได้ด้วยแว่นตา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ
-    With the rule, WTR, แกนกำลังสูงกว่าอยู่ในแนวตั้งและมีองศาเอียงอยู่ที่ 0-30 และ 150-180 องศา เป็นชนิดที่พบเห็นได้มากสุด
-    Against the rule, ATR, แกนกำลังสูงกว่าอยู่ในแนวนอนและมีองศาเอียงอยู่ที่ 60-120
-    Oblique มีองศาเอียงอยู่ที่ 31-59 และ 121-149 องศา

2.    Irregular astigmatism ภาวะสายตาเอียงที่มีแกน Principle meridians วางตัวไม่เป็นระเบียบพบได้น้อย เช่น ในคนที่เป็นโรคกระจกตาโป่ง (Keratoconus) ต้อเนื้อ หรือหลังการผ่าตัดต้อเนื้อ

ชนิดของสายตาเอียงในทางคลินิก
1.    Compound hyperopic astigmatism (CHA) แสงโฟกัสทั้งสองตกหลังจอตา
2.    Simple hyperopic astigmatism (SHA) แสงโฟกัสหนึ่งตกที่จอตาและอีกหนึ่งตกหลังจอตา
3.    Mixed astigmatism (MA) แสงโฟกัสหนึ่งตกหลังจอตาและอีกหนึ่งตกหน้าจอตา
4.    Simple myopic astigmatism (SMA) แสงโฟกัสหนึ่งตกที่จอตาและอีกหนึ่งตกหน้าจอตา
5.    Compound myopic astigmatism (CMA) แสงโฟกัสทั้งสองตกหน้าจอตา

หลักการทำ Spherical equivalent, SE บนสายตาจะเอียง
-    การทำ SE เป็นการหาค่าเลนส์หนึ่งเพื่อให้ภาพที่ตำแหน่งของ CLC เลื่อนเข้าใกล้จอตาขึ้น ทำให้ลดการบิดเบือนของภาพที่จอตา (Spatial distortion) ทำให้คนไข้ปรับตัวเข้ากับแว่นตาได้ดีขึ้นและใช้เวลาน้อยลง
-    การทำ SE จะลดการเพ่งลง อาการตาล้าจากการเพ่งจึงลดลงด้วย
-    สายตาเอียงชนิด Mixed astigmatism อาจเลือกทำ SE เพื่อลดอาการล้าตาจากการเพ่งได้
-    การคำนวณหาค่า SE

SE = 50% ของค่าสายตาเอียง + ค่า Sphere ตามเครื่องหมาย เช่น Rx -0.50-1.00x90
SE = 50%(-1.00) + (-0.50) = -1.00 D.

-    ในกรณีที่เลือกทำ SE เพียงบางส่วน เช่น -0.75-1.75x180 เลือกทำเพียง -1.00 DC
    SE = (50% (-1.00) + (-0.75)) -0.75x180
    SE = -1.25-0.75x180

จากรูปข้างบน เมื่อแก้ไขด้วยเลนส์ SE -1.25-0.75x180 ตำแหน่งของ CLCจะ เลื่อนเข้าใกล้จอตา และ Blur circle มีขนาดเล็กลงจากการแก้สายตาเอียงส่วนที่เหลือ (-0.75 DC) ทำให้ได้ภาพที่ดีขึ้นและการเพ่งทำงานลดลง

แนวทางการแก้ไขสายตาเอียงด้วยแว่นตา
1.    สาเหตุที่คนไข้จะปฏิเสธการใช้เลนส์ค่าสายตาเอียง
-    ลักษณะภาพและขนาดที่เกิดขึ้นบนจอตาเมื่อได้รับการแก้ไขด้วยแว่นตาจะชัดขึ้นและแตกต่างไปจากก่อนหน้า ทำให้สมองต้องใช้เวลาในการปรับการรับรู้ภาพขึ้นใหม่
-    ความแตกต่างกันของภาพในสองตา (ความต่างกันของภาพในภาวะสายตาเอียงไม่สามารถแก้ไข้ได้ด้วยแว่นตาเหมือนภาวะสายตาสั้นหรือยาว) ดังนั้นการจ่ายค่าสายตาเอียงที่เป็น Anisometropia จึงต้องระวังปัญหาของ Image difference

2.    หลักการจ่ายค่าสายตาเอียงที่เหมาะสม
-    การจ่ายค่าสายตาเอียงสูงในครั้งแรก อาจแบ่งจ่ายเป็นขั้นเพื่อลดเวลาในการปรับตัวของคนไข้
-    ค่าสายตาเอียงขนาด 0.25 DC ที่ไม่ทำให้การมองเห็นดีขึ้นมากนัก และคนไข้ไม่มีอาการใด หรือมีความต้องการใช้ในงานจริง อาจเลือกที่จะไม่จ่าย
-    ในกรณีที่ใส่แว่นตาที่มีเฉพาะค่า Sphere มาก่อน และมีอาการไม่สบายในการใช้แว่นตานั้น ค่าสายตาเอียงที่มี อาจมีความจำเป็น
-    ค่าสายตาเอียงที่ต่างกันมากของสองตา อาจเลือกจ่ายเป็นขั้นเพื่อให้สามารถปรับตัวได้ดี
-    ในกรณีที่คนไข้แสดงอาการไม่สบายตาไม่มาก อาจเลื่อนองศาเอียงให้เข้าใกล้แกนหลักที่ 180 หรือ 90 เพื่อช่วยลดอาการดังกล่าว

3.    การทำ Spherical equivalent จะต้องทำ Binocular balance ใหม่เสมอ เพราะมีผลต่อการใช้กำลังการเพ่งของตา

4.    ค่าสายตาเอียงที่มากกว่า -1.00 DC มีแนวโน้มที่จะเกิด Spatial distortion หรือการรับรู้ภาพที่ผิดปกติ ควร    พิจารณาในการทำ SE บางส่วน

5.    เมื่อได้แว่นตาแก้ไขในครั้งแรกอาจทำให้เกิด Spatial distortion  เช่น เสาไฟฟ้าเอียง แนวกำแพงโค้งหรือพื้น    เรียบนูนโค้งได้ อาจใช้เวลาหลายวันถึงสัปดาห์ในการปรับตัวให้เข้ากับแว่นตาคู่แรก

6.    การให้ค่าสายตาเอียงอีกวิธีหนึ่ง เริ่มจาก 0.25 DC แล้วค่อยเพิ่มขึ้นทีละ 0.25 DC จนถึงจุดที่คนไข้เริ่มเห็นภาพ    ผิดปกติ เราจะได้จุดที่ให้ค่าสายตาเอียงมากสุดโดยที่ไม่เกิดอาการ Spatial distortion ได้

7.    สายตาเอียงต่างกันได้ 0.25 DC ในแต่ละวัน โดยอาจมีสาเหตุมาจากอาการตาแห้ง แรงกดของเปลือกตา หรือ    กำลังการ    เพ่งที่ต่างกัน

8.    ต้อเนื้อจะทำให้เกิดปัญหาสายตาเอียงขึ้นได้เช่นกัน การผ่าตัดต้อเนื้อจะทำให้แกนนอน (Horizontal     meridian) มีความโค้งมากขึ้น ทำให้เกิดสายตาเอียงชนิด Against the rule ขึ้น

9.    ค่าสายตาเอียง 0.25 DC อาจจำเป็นในคนที่มีอาการปวดศีรษะ งานที่ต้องการรายละเอียดสูง คนที่ทำงานกับ    จอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การทำ Binocular balance  หรือในบางคนที่มีอาการไมเกรน เป็นต้น






นักทัศนมาตร
วิชัย ลัคนาทิน



หนังสืออ้างอิง
Irvan M. Borish, Clinical Refraction, 3 rd, 1970

Theodore Grosvernor, Primary Care Optometry, 4 th, 2002