หลักและวิธีหาค่าสายตาเอียงด้วย Clock Dial chart และ Fan chart

28 มิถุนายท 2563

หลายคนมีการใช้ Clock Dial หรือ Fan chart ในการวัดหาค่าสายตาเอียงกันอยู่เป็นประจำ บางคนอาจสงสัยว่าทั้งสองมีหลักการอย่างไร และวิธีการหาค่าสายตาเอียงของทั้งสองที่ถูกต้องทำอย่างไร เรามาหาคำตอบกันในบทความนี้

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อน สายตาเอียงมาจากคำละติน Stimatus ที่หมายถึงการรวมแสงที่เป็นจุดเดียว เมื่อมีการเติม A ไว้ข้างหน้าเป็น Astimatus หรือ Astigmatism จึงหมายถึงการรวมแสงที่ได้ไม่เป็นจุดเดียว ภาวะสายตาเอียงนั้นจะให้การรวมแสงที่เป็นเส้นและมากกว่าหนึ่ง นั้นเอง

สายตาเอียงนั้นมีสาเหตุที่สำคัญมาจากกายวิภาคของกระจกตา ในคนที่ไม่มีสายตาเอียงกระจกตาจะมีรูปทรงที่เป็นส่วนหนึ่งของทรงกลมจึงให้การรวมแสงได้เป็นหนึ่งจุด ในขณะที่ภาวะสายตาเอียงกระจกตาจะมีรูปทรงคล้ายลูกรักบี้ ซึ่งแต่ละแกนของกระจกตามีความโค้งที่ต่างกันจึงให้การรวมแสงที่มากกว่าหนึ่ง คนส่วนใหญ่ที่พบสายตาเอียงกระจกตาจะมีแกนหลักสองแกนทำมุมตั้งฉากกัน เราเรียกสายตาเอียงแบบนี้ว่า Regular astigmatism

สายตาเอียงแบ่งตามโครงสร้างของกระจกตาได้ 3 ชนิด คือ
1.    With the rule แกนหลักที่มีกำลังมากสุดอยู่ใกล้แนวตั้ง และ Axis และ Focal line อยู่ในแนวนอน
2.    Against the rule แกนหลักที่มีกำลังมากสุดอยู่ใกล้แนวนอน และ Axis และ Focal line อยู่ในแนวตั้ง
3.    Oblique astigmatism แกนหลักที่มีกำลังมากสุดอยู่ระหว่างแนวตั้งและแนวนอน

การเกิดภาพของเลนส์ Sphero-Cylinder Lens
โดยทั่วไปเรามักจะพบสายตาเอียงร่วมกับสายตาสั้นหรือสายตายาวแต่กำเนิดร่วมด้วยเสมอ เลนส์ที่ใช้จึงมีกำลังเลนส์หลักที่เป็น Sphere และมีแกนหนึ่งที่ให้กำลังเลนส์เพิ่มสำหรับแก้ไขสายตาเอียง เราเรียกเลนส์ชนิดนี้ว่า Sphero-Cylindrical Lens

Sphero-Cylindrical Lens มีสองแกนหลักที่มีกำลังสูงสุดและต่ำสุดที่ทำมุมตั้งฉากกัน สอดคล้องกับสายตาเอียงที่พบทั่วไป หากให้แสงเดินทางผ่านช่องเปิดวงกลมผ่าน Sphero-Cylindrical Lens ภาพที่ได้จะเป็นวงรีตามทิศทางของ Axis แต่ละแกนหลัก และเกิดเส้นรวมแสงขึ้น 2 จุดที่ระยะห่าง หรือ Interval of Strum และเกิดภาพปกติของวงกลมขนาดเล็กที่ตรงกลางเรียกว่า Circle of Least Confusion ดังนั้นเลนส์เอียงนี้จะให้ภาพที่มีความผิดปกติในทุกจุด ยกเว้นภาพที่ตำแหน่งของ Circle of Confusion เท่านั้น

การหักเหแสงของเลนส์ Sphero-Cylinder Lens
Sphero-Cylindrical Lens จะมี Strongest meridian ที่มีกำลังมากสุด และ Weakest meridian ที่มีกำลังน้อยสุด ทั้งสองทำมุมตั้งฉากกัน โดยมี Axis หรือแกนหมุน และ Focal line หรือเส้นรวมแสงตั้งฉากกับ Meridian ของตนเอง

การหักเหแสงของ Sphero-Cylindrical Lens สามารถสรุปได้ดังนี้
-    Strongest และ Weakest meridians ทำมุมตั้งฉากกัน
-    แต่ละ Meridian ตั้งฉากกับ Axis และ Focal Line
-    Focal Lines ทั้งสองตั้งฉากกัน

ดังนั้น Weakest Focal Line จึงตั้งฉากกับ Strongest Focal Line และ Strongest Axis

หากเราเขียนค่าสายตาในรูปแบบ Minus Cylinder Form หรือ SPH - CYL x AX โดย SPH จะเท่ากับกำลังเลนส์บน Weakest meridian และ CYL เท่ากับกำลังเลนส์บน Strongest meridian ส่วน AX ก็จะเท่ากับ Strongest Axis ซึ่งตั้งฉากกับ Weakest Focal Line ดังนั้นหากเราทราบมุมของ Weakest Focal Line มุมที่ต่างออกไป 90 องศาก็จะเป็น AX หรือองศาเอียงของค่าสายตาเอียงที่มี นั้นเอง

หลักการหาองศาเอียงด้วย Clock Dial และ Fan charts
เราทราบแล้วว่าองศาเอียงของค่าสายตาแบบ Minus Cylinder Form เท่ากับมุมที่ห่างออกไป 90 หรือมุมที่ตั้งฉากกับมุมของ Weakest focal line สำหรับ Clock Dial chart หรือ Fan chart เป็นแผ่นวัดที่สร้างขึ้นมาเพื่อจะใช้หาขนาดมุมของ Weakest focal line โดยอาศัยหลักการของการเกิดภาพและการหักเหแสงของเลนส์เอียง

เมื่อได้ค่าสายตาเบื้องต้นมาแล้ว ทำการ Fog ด้วยเลนส์บวกทำให้เส้นรวมแสงทั้งสองมาอยู่ที่หน้าจอตา การ Fog นอกจากจะคลายการเพ่งแล้วยังทำให้ภาพของเส้นต่างๆ มีความคมชัดที่ต่างกัน ภาพที่ใกล้จอตาจะมีความคมชัดที่มากกว่า หากเราไม่ทำการ Fog ดวงตาอาจทำการเพ่งให้ CLC อยู่ที่จอตา ภาพที่ได้จะแยกความแตกต่างได้ค่อนข้างยาก
สมมุติ Clock Dial chart ให้เส้นเข้มสุดที่ 1-7 นาฬิกา

หากนำเส้นนั้นมาวางที่กระจกตาในลักษณะเผชิญหน้ากับแผ่นวัด และอ่านตามแบบองศาเอียงจะเท่ากับ 120 องศา ดังนั้นองศาที่ห่างไป 90 เท่ากับ 30 จึงเป็นค่าองศาเอียง หรืออาจใช้หลักง่ายๆ โดยเอา 30 คูณกับตัวเลข 1-6 ของเส้นที่คมชัดก็ได้เช่นเดียวกัน เช่น ที่ 1-7 นาฬิกา องศาเอียงเท่ากับ 1*30 = 30 องศา

ถ้าเป็น Fan chart องศาที่แสดงบนแผ่นวัดตามแบบองศาเอียง องศาเอียงจึงเป็นมุมที่ห่างไป 90 เช่น Fan chart คมชัดที่ 120 องศาเอียงค่าสายตาจึงเท่ากับ 30 หรือใช้วิธีจำอย่างง่ายถ้าเส้นที่คมชัดมากกว่า 90 ให้ลบออก 90 ถ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับ 90 ให้บวกไป 90

วิธีการหาค่าสายตาเอียงด้วย Clock Dial chart ร่วมกับ Trial Frame
1.    ใส่ค่าสายตาเบื้องต้นบน Trial Frame
2.    ปิดตาซ้าย เปิดตาขวา
3.    ใช้แผ่นวัด Clock Dial chart หรือ Fan chart
4.    ทำการ Fog โดยใส่เลนส์บวกจนกว่าจะเห็นทุกเส้นเบลอ
5.    ทำการลดเลนส์บวกทีละ +0.25 D จนกระทั้งเริ่มเห็นเส้นใดเส้นหนึ่งหรือสามเส้นติดกันชัดกว่าเส้นอื่นๆ
6.    หากเห็นทุกเส้นชัดเท่ากันแสดงว่าไม่มีค่าสายตาเอียง
7.    ทำการบันทึกค่าองศาเอียง เช่น เส้นคมชัด 12-6 หรือ 90 จะได้องศาเอียงเท่ากับ 180
8.    ใส่เลนส์เอียงลบทีละ -0.25 D โดยวางเลนส์ตามองศาเอียงที่ได้จากข้างบน เช่น 180 องศา
9.    หยุด เมื่อมองเห็นทุกเส้นคมชัดเท่ากัน
10.  ทำเช่นเดียวกันกับตาข้างซ้าย

สรุป
การหาค่าสายตาเอียงด้วยวิธี Clock Dial หรือ Fan chart เป็นการอาศัยหลักการเกิดภาพและการหักเหแสงของเลนส์เอียงทำงานร่วมกับกระบวนการ Fogging แผ่นวัดจะให้ขนาดมุมของเส้นรวมแสง Weakest Focal Line ซึ่งจะตั้งฉากกับ Axis ของค่าสายตาเอียง (ถ้ามี) ค่าสายตาเอียงที่ได้จากวิธีนี้อาจถูกต้องไม่พอโดยเฉพาะค่าสายตาเอียงที่สูง อาจมีความจำเป็นที่ต้องสอบทานด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น Jackson Cross Cylinder เป็นต้น  



นายวิชัย ลัคนาทิน
นักทัศนมาตร, OD


เอกสารอ้างอิง
-    Irvin M. Borish, Clinical Refraction, 3rd, 1970