วุ้นในตาเสื่อม: คืออะไร สาเหตุ อาการและอาการแสดง การป้องกันและรักษา

23 สิงหาคม 2563

ดวงตามนุษย์เราหากพิจารณาทางด้านปริมาตรจะพบว่า 80% จะเป็นส่วนที่เรียกว่า วุ้นตา หรือ Vitreous humor โดย 99% ของวุ้นตามีน้ำเป็นองค์ประกอบทำให้วุ้นมีความใส วุ้นตาจะเป็นส่วนที่อยู่ด้านในสุดที่ติดอยู่กับจอตา ด้านหน้าติดกับเลนส์แก้วตา ก่อนอื่นเรามาดูโครงสร้างของวุ้นตากัน

วุ้นตาโดยชื่อก็บอกเป็นนัยของโครงสร้างที่เป็นเจลใสทำหน้าที่หลักในการรักษารูปทรงของดวงตา วุ้นตาเป็นเนื้อเยื่อชนิดเส้นใยเกี่ยวพันอย่างง่ายเช่นเดียวกับส่วนอื่นของร่างกาย โดยมีองค์ประกอบหลักสองส่วนคือ collagen และ Hyaluronic acid ที่ทำให้มีคุณลักษณะเป็นเจลได้

เราพบว่าความเป็นเจลของวุ้นตาเมื่อเวลาผ่านไปเกิดกระบวนการแยกตัวของเจลกับของเหลว หรือ Syneresis โดยช่วงแรกเกิดวุ้นตาจะเป็นเจล และเมื่ออายุ 2-3 ขวบ พบว่าความเป็นเจลลดลงเป็น 95% หลังจากนั้นความเป็นเจลของวุ้นตาจะลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 5% ทุก 10 ปี และเหลือต่ำกว่าครึ่งเมื่ออายุ 90 ปี

การเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นของวุ้นตาจะเกิดลักษณะถุงของเหลวขนาดเล็ก ๆ ที่แยกตัวออกจากเจลแขวนลอยไปมา และเมื่อลอยผ่านทางเดินแสงก็จะปรากฎเป็นเงาดำฉายขึ้นที่จอตาในรูปร่างต่าง ๆ เช่น หยากใย่ ลูกน้ำ ยุง สายสร้อย เป็นต้น ที่เราเรียกว่า Floaters  โดยปกติถุงน้ำที่เกิดขึ้นจะมีขนาดเล็กและจำนวนไม่มากจึงไม่สร้างปัญหาต่อการมองเห็น แต่หากมีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมากลอยไปบังทางเดินของแสงอาจทำให้การมองเห็นมีปัญหาได้ชั่วขณะหนึ่ง Floaters เหล่านี้เกิดขึ้นจากการสูญเสียความเป็นเจลหรือการเสื่อมของวุ้นตา (Vitreous Degeneration) นั้นเอง

เราพบว่าการเปลี่ยนแปลงของวุ้นตาเมื่อเวลาผ่านไปจะทำให้เกิดแรงหดหรือตึงตัวขึ้น ทำให้เกิดการลอกหรือแยกตัวออกจากชั้นจอตาโดยมักเกิดขึ้นที่ด้านหลังติดกับจอตา (Posterior Vitreous Detachment) หากการลอกนี้สมบูรณ์แบบจอตาจะไม่ได้รับความเสียหาย บางกรณีที่ติดกันค่อนข้างแน่นหรือชั้นจอตามีความเปราะบางอยู่ก่อน กระบวนการนี้อาจจะไปดึงจอตาทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า เห็นฟ้าแลบ หรือ เห็นแสงแฟลช์ (Flash) ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อการมองเห็น มีความเสี่ยงที่จะทำให้จอตาฉีกขาด หลอดเลือดขนาดเล็กใต้จอตาเกิดความเสียหายรั่วไหลของเลือดเข้าสู่วุ้นตาได้

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างวุ้นตาตามอายุเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไม เลนส์แก้วตาก็มีลักษณะการเสื่อมตามอายุเช่นเดียวกันที่ทำให้เกิดต้อกระจกในผู้สูงอายุทุกคนที่เกิดจากการดูดซับแสงที่มีอันตรายต่อดวงตา เช่น รังสียูวี ดังนั้นข้อสัณนิฐานหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างวุ้นตาเช่นเดียวกับเลนส์แก้วตา เพื่อการป้องกันจากรังสีที่มีอันตรายต่อดวงตา
วุ้นตายังมีองค์ประกอบส่วนน้อยมากที่เป็นเซลที่มีอยู่ 2 ชนิดด้วยกัน Hyalocytes เป็นเซลที่อยู่บริเวณด้านหลังติดจอตาทำหน้าที่ในการผลิต Hyaluronic acid กำจัดของเสียและเซล เป็นต้น Fibroblasts เป็นเซลอีกชนิดอยู่ที่ด้านบนทำหน้าที่สร้าง Collagen  

อาการและอาการแสดง
โรควุ้นตาเสื่อมอาการที่พบได้บ่อยเห็น Floaters ลอยไปโดยเฉพาะเมื่อมองมองเพดานหรือท้องฟ้า การมองเห็นแสงค้ลายฟ้าแลบหรือแสง Flash โดยเฉพาะบริเวณหางตา ในรายที่มีความรุนแรงที่มีการฉีกขาดเสียหายของจอตาอาจทำให้เห็นลักษณะม่านหรือเปื้อนดำบดบังการมองเห็นเนื่องจากมีเลือดไหลเข้าวุ้นตา หรือบางส่วนของเซล Hyalocytes เกิดหลุดลอยเข้ามาในวุ้นตาทำให้เห็นเป็น Floaters เพิ่มขึ้นจำนวนมาก  

การป้องกันและการรักษา
Vitreous Degeneration และ Posterior Vitreous Detachment ถือเป็นกระบวนการทางสรีระวิทยาปกติของมนุษย์ ส่วนมากแล้วไม่สร้างปัญหาใดให้กับดวงตาและการมองเห็น เพื่อลดหรือชะลอการเสื่อมของวุ้นตาทางหนึ่งโดยการป้องกันรังสียูวีหรือแสงแดด เช่น การสวมแว่นตากันแดด คนทั่วไปจะพบการลอกตัวของวุ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป หากสังเกตพบ Floaters ที่มีขนาดใหญ่หรือมีจำนวนมากเกิดขึ้นในทันที หรือมีอาการเห็นฟ้าแลบหรือแสง Flash แสดงว่าอาจเกิดกระบวนการลอกตัวของวุ้นตาและไปดึงรั้งจอตาขึ้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษา เช่น การยิงเลเซอร์ปิดแผลที่ฉีกขาดของจอตา เป็นต้น

โดยสรุป
วุ้นตาเสื่อมถือเป็นภาวะปกติที่พบได้ทั่วไป เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัววุ้นตาโดยธรรมชาติ ไม่มีความจำเป็นต้องรักษา เพียงแต่เฝ้าระวังในบางกรณีที่อาจไปทำให้เกิดความเสียหายต่อชั้นจอตา เช่น อาการเห็นแสง Flash หรือพบ Floaters ที่มีขนาดใหญ่หรือจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการรั่วไหลของหลอดเลือดใต้จอตา แนะนำให้ไปรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาในทันที