ดวงตาและการมองเห็นของเรา

ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากอันหนึ่งของมนุษย์ โครงสร้างตาของมนุษย์เกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดาช่วงสัปดาห์แรกๆ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเข้าสู่วัยรุ่น ดวงตาจึงนับว่าเป็นว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญมากและถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสมองในการทำงานร่วมกันตั้งแต่แรกเกิดของมนุษย์เราจนตลอดชั่วอายุ

   การมองเห็นที่ดีของตามนุษย์จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบหลักที่ดี 3 ส่วน คือ
1. มีโครงสร้างและสุขภาพของดวงตาที่ดี
2. มีการทำงานของสองตาร่วมกันที่ดี และ
3. มีจอประสาทตาและระบบประสาทในการรับรู้ภาพที่ดี

เมื่อวัตถุรอบตัวเราได้รับแสงมาจากแหล่งกำเนิดหนึ่งๆ ซึ่งที่สำคัญก็คือดวงอาทิตย์และหลอดไฟต่างๆ วัตถุจะดูดกลืนแสงนั้นไว้บางส่วน และทำการส่งผ่านและสะท้อนแสงที่เหลือเข้าสู่ดวงตาของเรา ดวงตาจะทำหน้าที่หลัก 3 ประการคือ หนึ่งหักเหแสง สองส่งผ่านและควบคุมปริมาณแสง และสามเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นสัญญาณทางประสาท

ดวงตาของเราจะมีกระจกตาเป็นองค์ประกอบหลักในการทำหน้าที่ในการหักเหและรวมแสง มีกล้ามเนื้อม่านตาทำหน้าที่เสมือนม่านทำให้เกิดเป็นรูม่านตา เพื่อควบคุมปริมาณแสงที่เหมาะสมให้เข้าสู่ดวงตา จากนั้นแสงจะผ่านเข้าสู่เลนส์ตาที่ทำหน้าที่ในการปรับภาพให้ชัดได้อย่างอัตโนมัติตามระยะที่วัตถุนั้นอยู่ และผ่านเข้าสู่วุ้นในตาที่ทำหน้าที่หลักในการรักษาโครงสร้างลูกตา ก่อนที่แสงรวมนั้นจะตกลงบนจุดรับภาพบนจอประสาทตาอย่างพอดี

เซลรับภาพที่อยู่บนจอประสาทตาจะทำหน้าที่ดูดกลืนพลังงานแสงนั้น ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีและเกิดความต่างศักดิ์ทางไฟฟ้าขึ้น เกิดเป็นสัญญาณทางประสาทเดินทางตามเส้นประสาททีไขว้กัน optic track เข้าสู่บริเวณที่เรียกว่า dorsal lateral geniculate nucleus ซึ่งที่ทำหน้าที่ในการแยกสัญญาณประสาท ก่อนที่สัญญาณนั้นจะเดินทางตาม optic radiation เข้าสู่บริเวณสมองน้อย ในส่วนของการรับรู้ภาพที่เรียกว่า primary visual cortex ที่อยู่บริเวณท้ายทอยของมนุษย์ เพื่อทำการแปลงสัญญาณประสาทที่ได้รับให้เกิดเป็นภาพขึ้น สมองก็จะทำการส่งสัญญาณป้อนกลับให้กับกระบวนการเพ่งที่ทำงานอย่างอัตโนมัติโดยมีเลนส์ที่ทำให้เกิดภาพที่คมชัดขึ้นในที่สุด