Computer vision syndrome

                                                                         23 กันยายน 2559


โรค Computer vision syndrome หรือ Digital eyestrain หมายถึง กลุ่มของโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการอยู่หน้าจอดิจิตอลทั้ง PC, Notebook, Tablet, Smart phone หรือจอดิจิตอลอื่นๆ เป็นเวลานาน โดยไม่จำกัดเฉพาะโรคทางตาและการมองเห็น แต่รวมไปถึงโรคทางคอ หลัง มือ เป็นต้น

โรค CVS จะพบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเป็นวิถีชีวิตแห่งดิจิตอลที่ต้องอยู่หน้าจอในแต่ละวันที่ยาวนานมากขึ้น ปัญหาของ CVS ไม่ได้จำกัดเฉพาะในผู้ใหญ่แต่ในเด็กก็พบได้เช่นกัน 

กลุ่มโรคทาง CVS จะสัมพันธ์กับ 4 ปัญหาหลัก คือ
-    ปัญหาการหักเหแสงของดวงตา (Refractive error)
-    ปัญหาระบบการทำงานสองตา (Binocular vision)
-    ปัญหาสุขภาพของดวงตาและระบบ (Ocular and system health)
-    ปัญหาท่วงท่าในขณะที่อยู่หน้าจอ (Ergonomic)

คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรค CVS จะมีสาเหตุนำมาจากสองข้อแรก คือ

Refractive error เช่น
-    มีค่าสายตาที่ไม่มาก แต่ไม่ได้รับการแก้ไข
-    มีสายตายาวแต่กำเนิดชนิดซ้อนเร้น (Latent hyperopia)
-    มีสายตาเอียง (Astigmatism) ที่ไม่มาก
-    มีสายตาสองข้างที่ไม่เท่ากัน (Anisometropia)

Binocular vision เช่น
-    มีอาการตาเหล่ซ้อนเร้น (Heterophoria)
-    มีกำลังการเพ่งต่ำ (Accommodative fatigue)
-    กำลังในการรวมภาพของสองตาต่ำ (Fusional vergence dysfunction)
-    ระบบเพ่งทำงานได้ไม่ดี (Accommodative infacility) 

โดยพบว่าคนที่เป็นโรค CVS จะมีปัญหาที่ระบบเพ่ง (Accommodation) เป็นส่วนใหญ่ และตามด้วยปัญหาของอาการตาเหล่ซ้อนเร้น (Heterophoria) ในระยะใกล้ที่พบได้บ่อยอย่างมีนัยยะสำคัญ

อาการทางตาส่วนใหญ่ของโรค CVS จะสัมพันธ์กับเวลาที่อยู่หน้าจอดิจิตอลทั้ง PC, notebook, smart phone, tablet ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะใช้งานในระยะที่ใกล้ตา จำต้องใช้กำลังการเพ่งของตาร่วมกับการทำงานของระบบสองตาเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดอาการและอาการแสดง เข่น
-    เมื่อย ล้าตา ง่วงนอนมากกว่าปกติ  
-    เวลาในการอยู่หน้าจอลดลง ต้องการเวลาในการพักสายตามากขึ้น
-    ตึงตา ปวดตา ปวดรอบเบ้าตาและด้านในตา
-    มึนและปวดศีรษะ และบริเวณท้ายทอย
-    เห็นภาพเบลอในบางครั้ง และมีความยากในการเพ่งเพิ่มขึ้น
-    มีอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล

แนวทางแก้ไขอาการทางตาและการมองเห็นของโรค CVS
เบื้องต้นหากทำได้ให้ลดเวลาในการอยู่จอหน้าจอลง และพักสายตาตามกฎ 20/20/20 คือทุก 20 นาทีให้มองไกลไป 20 ฟุตเป็นเวลา 20 วินาที แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องการใช้งานที่หน้าจอดิจิตอลเป็นเวลานานขึ้น มีแนวทางแก้ไขดังนี้

1.    กรณีมีค่าสายตา ทำการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติเพื่อลดการทำงานของการเพ่ง
-    สายตายาวแต่กำเนิดจะต้องการใช้กำลังการเพ่งที่มากกว่าปกติ
-    สายตาเอียงหรือสายตาสองข้างที่ไม่เท่ากัน ต้องการใช้กำลังการเพ่งที่มากกว่าปกติเช่นกัน

2.    กรณีมีระบบเพ่งบกพร่อง (Accommodative disorders)
-    Accommodative insufficient จ่ายแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือ
-    Accommodative excess เข้าโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาส่วนเพ่ง
-    Accommodative infacility เข้าโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาส่วนเพ่ง

3.    กรณีมีตาเหล่ตาเข (Vergence disorder) ร่วม
-    Vertical phoria ให้ทำการแก้ไขด้วยแว่นตาปริซึม และ/หรือโปรแกรมการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
-    Convergence insufficient ให้เข้ารับโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
-    Convergence excess ให้จ่ายเลนส์บวกสำหรับแว่นตาอ่านหนังสือ
-    Basic exophoria ให้เข้ารับโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
-    Basic esophoria ให้จ่ายปริซึม base out
-    Fusional vergence dysfunction ให้เข้ารับโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา

โดยเฉพาะในคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี หากพบว่าหลังการใช้งานหน้าจอแล้วมีอาการและอาการแสดงต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านดวงตา อาจจะสันนิฐานได้ว่าเป็นโรค Computer vision syndrome หรือ Digital eyestrain ควรเข้ารับการตรวจวัดและวินิจฉัยกับนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์