เคลือบป้องกันรังสียูวีสำคัญอย่างไร

รังสียูวีหมายถึงแสงที่มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 200 – 400 นาโนเมตร โดยแยกออกเป็น 3 ช่วงคือ


- UV A ที่มีความช่วงยาวคลื่น 315 – 400 นาโนเมตร
- UV B ที่มีช่วงความยาวคลื่น 280 – 315 นาโนเมตร
- UV C ที่มีช่วงความยาวคลื่น 200 – 315 นาโนเมตร


ความรุนแรงต่อมนุษย์ในความเข้มที่เท่ากันนั้น จะไล่ระดับตามความยาวคลื่นที่สั้นไปหาความยาวคลื่นยาวกว่า ดังนั้น UV C จะรุนแรงกว่า UV A และเหนือขึ้นไปจากนั้นจะเป็นแสงที่ตามองเห็นคือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสดและแดง ตามลำดับ และขึ้นไปจะเป็นรังสีอินฟาเรด รังสี UV C เกือบทั้งหมดจะถูกกรองด้วยชั้นบรรยากาศ ไม่พบที่พื้นดินและรอบตัวเรา


UV B จะถูกกรองโดยชั้นโอโซนในบรรยากาศ แต่ด้วยผลของเรือนกระจกทำให้ชั้นโอโซนบางลงและบางส่วนทะลุ ทำให้ UV B บางส่วนลงมาที่พื้นโลก ส่วน UV A พบได้รอบตัวเรา UV B และ A จะทำอันตรายต่อผิวหนังและดวงตา เช่น การเกิดต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และอาจจะมีผลต่อการเสื่อมของจอตาตามอายุที่เร็วขึ้น การเคลือบผิวเลนส์เพื่อป้องกันรังสียูวีจึงเป็นการดูแลรักษาสุขภาพดวงตาซึ่งมีความสำคัญมาก การที่เรามีการป้องกันยูวีต่อดวงตาตั้งแต่เด็กอาจจะทำให้เราไม่ต้องผ่าตัดต้อกระจกเลยก็ได้ (พบได้ทุกคนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป การรักษาที่ได้ผลคือการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตา) ตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกากำหนดให้แว่นตาที่สามารถกรองรังสียูวีได้ถึง 380 นาโนเมตร

การป้องกันรังสียูวีบนแว่นตาอาจทำได้ 3 วิธี


1. ใช้เลนส์ที่มีสีเข้มมากๆ เช่น แว่นกันแดดสีดำ


2. ใช้เลนส์ที่วัสดุตัวมันเองสามารถกรองรังสียูวีได้ เข่น เลนส์ที่มีดัชนีหักเหตั้งแต่ 1.56 ขึ้นไปหรือเลนส์ย่อบางซึ่งจะป้องกันยูวีได้ถึง 380 นาโนเมตร ส่วนเลนส์ปกติหรือเลนส์ CR39 ซึ่งมีดัชนีหักเหที่ 1.49 จะกรองรังสียูวีได้เพียง 350 นาโนเมตรเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอ


3. ทำการเคลือบผิวเลนส์ด้วยสารกรองรังสียูวีเฉพาะ ซึ่งวิธีการนี้จะป้องกันยูวีได้ถึง 400 นาโนเมตร
ดังนั้นการเลือกซื้อแว่นตาทุกครั้งจำเป็นที่จะต้องมั่นใจว่า เลนส์นั้นสามารถกรองรังสียูวีได้ตามมาตรฐานถึง 380 นาโนเมตร ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพดวงตาในระยะยาว