Computer vision syndrome
โรค Computer vision syndrome หรือ Digital eyestrain หมายถึง กลุ่มของโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการอยู่หน้าจอดิจิตอลทั้ง PC, Notebook, Tablet, Smart phone หรือจอดิจิตอลอื่นๆ เป็นเวลานาน โดยไม่จำกัดเฉพาะโรคทางตาและการมองเห็น แต่รวมไปถึงโรคทางคอ หลัง มือ เป็นต้น
โรค CVS จะพบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะเป็นวิถีชีวิตแห่งดิจิตอลที่ต้องอยู่หน้าจอในแต่ละวันที่ยาวนานมากขึ้น ปัญหาของ CVS ไม่ได้จำกัดเฉพาะในผู้ใหญ่แต่ในเด็กก็พบได้เช่นกัน
กลุ่มโรคทาง CVS จะสัมพันธ์กับ 4 ปัญหาหลัก คือ
- ปัญหาการหักเหแสงของดวงตา (Refractive error)
- ปัญหาระบบการทำงานสองตา (Binocular vision)
- ปัญหาสุขภาพของดวงตาและระบบ (Ocular and system health)
- ปัญหาท่วงท่าในขณะที่อยู่หน้าจอ (Ergonomic)
คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรค CVS จะมีสาเหตุนำมาจากสองข้อแรก คือ
Refractive error เช่น
- มีค่าสายตาที่ไม่มาก แต่ไม่ได้รับการแก้ไข
- มีสายตายาวแต่กำเนิดชนิดซ้อนเร้น (Latent hyperopia)
- มีสายตาเอียง (Astigmatism) ที่ไม่มาก
- มีสายตาสองข้างที่ไม่เท่ากัน (Anisometropia)
Binocular vision เช่น
- มีอาการตาเหล่ซ้อนเร้น (Heterophoria)
- มีกำลังการเพ่งต่ำ (Accommodative fatigue)
- กำลังในการรวมภาพของสองตาต่ำ (Fusional vergence dysfunction)
- ระบบเพ่งทำงานได้ไม่ดี (Accommodative infacility)
โดยพบว่าคนที่เป็นโรค CVS จะมีปัญหาที่ระบบเพ่ง (Accommodation) เป็นส่วนใหญ่ และตามด้วยปัญหาของอาการตาเหล่ซ้อนเร้น (Heterophoria) ในระยะใกล้ที่พบได้บ่อยอย่างมีนัยยะสำคัญ
อาการทางตาส่วนใหญ่ของโรค CVS จะสัมพันธ์กับเวลาที่อยู่หน้าจอดิจิตอลทั้ง PC, notebook, smart phone, tablet ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะใช้งานในระยะที่ใกล้ตา จำต้องใช้กำลังการเพ่งของตาร่วมกับการทำงานของระบบสองตาเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดอาการและอาการแสดง เข่น
- เมื่อย ล้าตา ง่วงนอนมากกว่าปกติ
- เวลาในการอยู่หน้าจอลดลง ต้องการเวลาในการพักสายตามากขึ้น
- ตึงตา ปวดตา ปวดรอบเบ้าตาและด้านในตา
- มึนและปวดศีรษะ และบริเวณท้ายทอย
- เห็นภาพเบลอในบางครั้ง และมีความยากในการเพ่งเพิ่มขึ้น
- มีอาการตาแห้ง แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล
แนวทางแก้ไขอาการทางตาและการมองเห็นของโรค CVS
เบื้องต้นหากทำได้ให้ลดเวลาในการอยู่จอหน้าจอลง และพักสายตาตามกฎ 20/20/20 คือทุก 20 นาทีให้มองไกลไป 20 ฟุตเป็นเวลา 20 วินาที แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องการใช้งานที่หน้าจอดิจิตอลเป็นเวลานานขึ้น มีแนวทางแก้ไขดังนี้
1. กรณีมีค่าสายตา ทำการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติเพื่อลดการทำงานของการเพ่ง
- สายตายาวแต่กำเนิดจะต้องการใช้กำลังการเพ่งที่มากกว่าปกติ
- สายตาเอียงหรือสายตาสองข้างที่ไม่เท่ากัน ต้องการใช้กำลังการเพ่งที่มากกว่าปกติเช่นกัน
2. กรณีมีระบบเพ่งบกพร่อง (Accommodative disorders)
- Accommodative insufficient จ่ายแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือ
- Accommodative excess เข้าโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาส่วนเพ่ง
- Accommodative infacility เข้าโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตาส่วนเพ่ง
3. กรณีมีตาเหล่ตาเข (Vergence disorder) ร่วม
- Vertical phoria ให้ทำการแก้ไขด้วยแว่นตาปริซึม และ/หรือโปรแกรมการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
- Convergence insufficient ให้เข้ารับโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
- Convergence excess ให้จ่ายเลนส์บวกสำหรับแว่นตาอ่านหนังสือ
- Basic exophoria ให้เข้ารับโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
- Basic esophoria ให้จ่ายปริซึม base out
- Fusional vergence dysfunction ให้เข้ารับโปรแกรมในการฝึกบริหารกล้ามเนื้อตา
โดยเฉพาะในคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี หากพบว่าหลังการใช้งานหน้าจอแล้วมีอาการและอาการแสดงต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านดวงตา อาจจะสันนิฐานได้ว่าเป็นโรค Computer vision syndrome หรือ Digital eyestrain ควรเข้ารับการตรวจวัดและวินิจฉัยกับนักทัศนมาตรหรือจักษุแพทย์