แว่นตาป้องกันรังสียูวี : หลีกไกลจากโรคต้อลม ต้อเนื้อ และต้อกระจก

  27 May 2015                                                                   
เมื่อพูดถึงแว่นตาคนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงสิ่งเหล่านี้

-    แว่นสายตาสำหรับแก้ไขในคนที่มีปัญหาทางสายตา
-    แว่นกันแดดสำหรับลดแสงจ้าในตอนกลางวัน
-    แว่นตาแฟชั่นใส่กับเสื้อผ้า

สิ่ง สำคัญมากที่ถูกละเลยไปก็คือการสวมแว่นตาเพื่อสุขภาพดวงตาเรา ดวงตาเราถือเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญอาจจะเทียบได้กับสมองของเราด้วยเช่นกัน เพราะทั้งตาและสมองเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันและเป็นอวัยวะเริ่มต้น รวมทั้งสองยังทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ต่อมาของมนุษย์เรา ดวงตาถือเป็นอวัยวะที่เดียวที่เราสามารถมองเห็นอวัยวะอื่นๆ ภายในร่างกายได้ เช่น เส้นเลือดต่างๆ ทั้งที่เยื่อบุตาขวาและจอตาด้านใน มองเห็นกล้ามเนื้อม่านตา เลนส์แก้วตา เป็นต้น

เราลองมาดูโครงสร้างกายภาพของดวงตาเราอย่างย่อกัน
-    ด้านนอกสุดจะเป็นฟิล์มน้ำตาที่มีความหนาประมาณ 0.1 มิลลิเมตร ทำหน้าในการหล่อลื่นสำหรับการกระพริบตา มีคุณสมบัติเป็นสาร Antibiotic ในการกำจัดเชื้อโรคและเป็นแหล่งอาหารให้กับกระจกตา

-    ชั้นแรกของเนื้อเยื่อเป็นชั้นกระจกตาที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร หนา 0.5 มิลลิเมตร อยู่ตรงกลางตาดำ ทำหน้าที่เป็นตัวหลักในการหักเหแสงจากวัตถุที่เข้าสูดวงตา
 
-    ด้านนอกกระจกตาเป็นเยื่อบุตาขวาที่เปรียบเสมือนโล่ขนาดใหญ่ป้องกันสิ่งแปลก ปลอมต่างๆ เข้าตาซึ่งจะคลุมทั้งหมดจนไม่มีช่องว่างใดๆ คนที่ใส่คอนแทคเลนส์ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะหลุดหายเข้าไปในตาได้

-    ด้านหลังกระจกตาเป็นห้องที่เรียกว่า Anterior Chamber บรรจุของเหลวชื่อ Aqueous Humor ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของกระจกตา

-    Iris หรือกล้ามเนื้อม่านตาอยู่ถัดเข้าไปมีลักษณะเหมือนม่านวงกลมที่ทำหน้าที่ใน การปรับปริมาณแสงที่เข้าสู่ดวงตาที่เรียกว่า รูม่านตา ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 2-8 มิลลิเมตร ม่านตายังเป็นตัวกำหนดสีของดวงตาอีกด้วย เช่น คนตาสีน้ำตาล ตาสีฟ้า
 
-    เลนส์แก้วตาจะอยู่ลึกห่างม่านตาเล็กน้อย มีลักษณะวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 มิลลิเมตร ทำหน้าที่ปรับโฟกัสอัตโนมัติเพื่อให้ภาพตกลงที่จอตาอย่างพอดี

-    Ciliary Muscle หรือกล้ามเนื้อตาส่วนเพ่งวางตัวอยู่รอบเลนส์แก้วตามีเส้นเอ็น Zonule  เชื่อมกับเลนส์แก้วตา ทำหน้าที่ร่วมกับเลนส์แก้วตาในการเพ่งหรือปรับโฟกัสอย่างอัตโนมัติ เมื่อเรามองใกล้เป็นเวลานานจึงรู้สึกเหมื่อยตาจากการทำงานหนักของกล้ามเนื้อ ส่วนนี้นั้นเอง

-    Vitreous หรือวุ้นในตา จะมีลักษณะคล้ายวุ้นใสอยู่ติดเลนส์แก้วตาไปจนถึงจอตา ทำหน้าที่หลักในการรักษารูปทรงของดวงตาและเป็นแหล่งอาหารของเซลเลนส์แก้วตา

-    Retina หรือจอตาจะเป็นเสมือนฉากด้านในสุดที่ทำหน้าที่รับภาพและแปลงเป็นสัญญาณ ประสาท ส่งต่อไปยังสมองส่วนกลางการมองเห็น หรือ Visual Cortex ที่บริเวณท้ายทอยเพื่อทำการประมวลภาพ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังสมองส่วนบนเพื่อสั่งการ

เราจะพบว่าตานั้นมีความ สำคัญมากต่อพัฒนาการและการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ขณะเดียวกันก็เป็นอวัยวะที่ค่อนข้างเปราะบางด้วยเหตุที่ต้องยอมให้แสงเดิน ทางผ่านได้ดี ถึงแม้ว่าจะมีกลไกในการป้องกันตนเอง แต่หากเราละเลยที่จะดูแลก็อาจจะทำให้อวัยวะส่วนนี้เสื่อมลงเร็วกว่าที่ควรจะ เป็น

โรคของตาต่อไปนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ในคนทั่วไปและบางชนิดมีโอกาสพัฒนาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ แต่เราสามารถป้องกันได้อย่างง่ายดาย

-    โรคต้อลม หรือ Pinguecular มีลักษณะเป็นวุ้นสีเหลืองที่หนาตัวขึ้นบริเวณเยื่อบุตาขวา หากเป็นมากจะมีอาการตาแดง ตาแห้ง แสบตา เคืองตาและอาจมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ ต้อลมนี้มีสาเหตุมาจากเยื่อบุตาขาวได้รับความระคายเคืองที่มีสาเหตุต่างๆ เช่น เศษฝุ่น ทราย ที่เข้าตาทำให้เกิดความระคายเคือง เซลเยื่อบุตาขวาจึงถูกกระตุ้นให้สร้างจำนวนมากขึ้น โดยมีรังสียูวีจากแสงแดดเป็นตัวเร่งกระบวนการนี้หรืออาจเป็นการได้รับแสงแดด อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การสวมใส่แว่นตาที่สามารถป้องกันฝุ่นและรังสียูวีได้ก็สามารถป้องกันโรคต้อ ลมได้เป็นอย่างดี
 
-    โรคต้อเนื้อ หรือ Pterygium ลักษณะจะคล้ายโรคต้อลม แต่จะเป็นในชั้นของเนื้อเยื่อที่ต่างชนิดกันคือ Fibrovascular Tissue ซึ่งจะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงเนื้อเยื่อกลุ่มนี้ ต้อเนื้อจะมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมหันด้านยอดแหลมเข้าหากระจกตา มีสีแดงเรื่อๆ อาการจะคล้ายโรคต้อลมแต่รุนแรงกว่าในแง่ที่มีการเจริญของเนื้อเยื่อเข้า หากระจกตาได้ เมื่อมีอาการมากขึ้นจะลามเข้ากระจกตาและไปบังแสงจากวัตถุที่จะเข้าสู่ตา ทำให้ตาข้างนั้นมีการมองเห็นที่แย่ลง สุดท้ายจำต้องผ่าตัดเนื้อเยื่อส่วนนี้ออกแต่ก็จะกลับมาเป็นได้อีกอย่างรวด เร็ว และการผ่าตัดนั้นก็จะทำให้เกิดปัญหาสายตาเอียงตามมา สาเหตุก็เช่นเดียวกันกับโรคต้อลมการป้องกันที่ดีก็เพียงสวมแว่นตาที่สามารถ ป้องกันรังสียูวีได้

-    โรคต้อกระจก หรือ Cataract ต้อกระจกถือว่าเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนตาบอด ต้อกระจกเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถเลี่ยงการเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นกลไกอย่างหนึ่งของร่างกายในการป้องกันตนเองของดวงตาจากรังสีต่างๆ ที่เข้าดวงตา ดังนั้นในคนอายุมากกว่า 70 ปีจะพบต้อกระจกได้เกือบทุกคนมากน้อยต่างกัน ต้อกระจกเป็นผลมาจากการสะสมเซลของเลนส์แก้วตาตั้งแต่เกิด ไม่มีการกำจัดทิ้ง ดังนั้นเมื่ออายุมากขึ้นปริมาณเซลที่เพิ่มขึ้นจึงอัดแน่นทำให้เลนส์แก้วตา จากใสก็จะเริ่มค่อยๆ ขุ่นขาว มีสีเหลืองและเป็นสีน้ำตาลเข้มบังทางเดินแสงที่ทำให้เกิดอาการตาบอดขึ้น

อย่างไรก็ตามต้อกระจกอาจจะถูกเร่งปฏิกิริยาให้เร็วขึ้นได้ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น การได้รับสารเสตียรอยด์ในระดับสูงหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน คนที่เป็นโรคเบาหวานมานาน และคนทั่วไปที่ได้รับรังสียูวีสูง หรือต่อเนื่องและเป็นเวลานาน ซึ่งรังสียูวีจะไปเร่งปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้เซลที่กระจกตามีการจับตัวกันหนา แน่นเร็วขึ้น

ถึงแม้โรคต้อกระจกสามารถรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ แก้วตาเทียมให้กลับมาเห็นได้เป็นปกติ แต่เป็นต้นทุนที่สูงมากหากต้องทำการผ่าตัดให้กับทุกคน เราสามารถชะลอการเป็นโรคต้อกระจกได้อย่างง่ายๆ โดยการหลีกเลี่ยงการได้รับรังสียูวีเข้าสู่ดวงตา เราอาจจะไม่เป็นจำเป็นต้องผ่าตัดต้อกระจกเลยก็ได้ในช่วงอายุขัย หากดวงตาเราได้รับการป้องกันรังสียูวีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก

จะพบว่าโรคตาทั้งต้อลม ต้อเนื้อ และต้อกระจก เมื่อเป็นแล้วการรักษากระทำได้เพียงการผ่าตัด ซึ่งทั้งต้อลมและต้อเนื้อหลังการผ่าตัดนอกจากจะกลับมาเป็นได้ใหม่แล้วยังจะ มีผลกระทบต่อการมองเห็นที่แย่ลง และถึงแม้โรคต้อกระจกจะสามารถผ่าตัดใส่เลนส์แก้วตาเทียมแต่จะดีกว่าถ้ามัน ไม่จำเป็น โรคต้อทั้งสามจะมีรังสียูวีเป็นตัวผู้ร้ายที่อาจเป็นทั้งสาเหตุหรือตัว กระตุ้นให้รุนแรงและลุกลามมากขึ้น ในขณะเดียวกันปัญหาภาวะเรือนกระจก ภาวะชั้นบรรยากาศที่บางลงย่อมทำให้ปริมาณรังสียูวีเพิ่มมากขึ้นบนพื้นผิวโลก ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหล่านี้ย่อมสูงขึ้นตาม ดังนั้นการเลือกมีแว่นตาสักหนึ่งอันที่มีคุณสมบัติในการป้องกันรังสียูวีได้ ดี ย่อมเป็นการลงทุนที่ดีและคุ้มค่าในการดูแลสุขภาพของดวงตาเราในระยะยาว