ภาวะสายตาขี้เกียจ : คืออะไร สาเหตุ การป้องกัน และการแก้ไข

4 พฤศจิกายน 2559

ภาวะสายตาขี้เกียจ (Amblyopia or lazy eye) โดยนิยามทางคลินิก คือ ภาวะที่ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างโดยที่ไม่มีพยาธิสภาพอื่นๆ ที่มีผลต่อการมองเห็น เมื่อได้รับการแก้ไขค่าสายตาอย่างเต็มที่แล้วมีความสามารถในการมองเห็นที่ด้อยกว่า 20/40 หรือ ตาสองข้างมีความสามารถในการมองเห็นที่ต่างกันเกินกว่า 2 บรรทัดของ Snellen chart ขึ้นไป

ภาวะสายตาขี้เกียจ เป็นความบกพร่องในการพัฒนาด้านสมองส่วนของการมองเห็น มีหลายคนที่เข้าใจผิดว่าภาวะสายตาขี้เกียจคือการมีค่าสายตาสองข้างที่ต่างกัน ซึ่งหากตาทั้งสองนั้นเมื่อได้รับการแก้ไขด้วยแว่นตา แล้วให้ความสามารถในการมองเห็นที่กลับมาปกติ ก็ไม่ถือว่าเป็นภาวะสายตาขี้เกียจ

ภาวะสายตาขี้เกียจมีสาเหตุมาจากช่วงขณะพัฒนาการของการมองเห็นหรือก่อนอายุ 10 ขวบ ตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างไม่ได้รับภาพชัดบนจอตาจึงไปขัดขวางกระบวนการพัฒนาการมองเห็น ทำให้สมองส่วนรับรู้ภาพในเด็กเกิดกระบวนการในการตัดการรับรู้ภาพที่ได้ในตาข้างที่ด้อยกว่า (Suppression) และหยุดการพัฒนาการมองเห็น หรือหากด้อยมากพอทั้งสองตาก็อาจจะหยุดการพัฒนาการมองเห็นได้เช่นเดียวกัน

ภาวะสายตาขี้เกียจแบ่งออกตามสาเหตุได้ 3 ชนิด
1.    สายตาขี้เกียจเนื่องจากตาเหล่ตาเข (Strabismic amblyopia)
2.    สายตาขี้เกียจเนื่องจากมีการหักเหแสงที่ผิดปกติ (Refractive amblyopia)
3.    สายตาขี้เกียจเนื่องจากถูกปิดกั้นการมองเห็น (Deprivative amblyopia) เช่น ต้อกระจกในเด็ก

ภาวะสายตาขี้เกียจเป็นเรื่องของเซลประสาทที่ด้อยพัฒนาการ การรักษาจะทำได้ค่อนข้างยากลำบาก การได้รับการวินิจฉัยแต่เนินๆ จึงจะให้ผลที่ดี ในผู้ใหญ่บางคนจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาทางสายตา ทำให้เด็กอาจเสี่ยงในการเกิดภาวะสายตาขี้เกียจขึ้นได้ เช่น
 
- คิดว่าเมื่อโตขึ้นสายตาเด็กจะดีขึ้นเอง ความจริงภาวะสายตาสั้นในเด็กมักจะไม่กลับมาเป็นปกติเมื่อเด็กโตขึ้น (ต่างจากภาวะสายตายาวแต่กำเนิดที่มีโอกาสพัฒนาเป็นปกติได้)

- ละเลยหรือล่าช้าในการพาไปตรวจวัดสายตาเมื่อเด็กบอกว่ามองไม่เห็นชัด

- การใส่แว่นตาทำให้สายตาแย่ลงเร็วกว่าเดิม ความจริงแล้วภาวะสายตาผิดปกติส่วนใหญ่มีสาเหตุจากเรื่องกายภาพโครงสร้างลูกตา เช่น กระบอกตาที่สั้นหรือยาวผิดปกติ ความโค้งกระจกตาผิดปกติ เป็นต้น การสวมแว่นตาไม่สามารถทำให้โครงสร้างทางกายภาพของตาเปลี่ยนแปลงได้

- ผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญของการสวมแว่นตาในเด็ก ทำให้เด็กซึ่งไม่ชอบอยู่แล้วจึงไม่สวมแว่นตา

แนวทางการรักษาภาวะสายตาเอียง
การรักษาภาวะสายตาขี้เกียจนั้น หลักการให้ทำการแก้ไขค่าสายตาที่มีอย่างเต็มที่และให้ปิดตาข้างที่ดี เพื่อให้ตาข้างที่ขี้เกียจได้รับภาพที่ดีสุดและถูกกระตุ้นให้เซลประสาทตาได้ทำงานอีกครั้ง ผลการรักษาจะขึ้นกับอายุของเด็กที่เริ่มรักษาและอาการที่มี ยิ่งได้รับการรักษาเร็วเท่าไรยิ่งมีโอกาสหายสูงและใช้เวลาในการรักษาสั้น

การป้องกันภาวะสายตาขี้เกียจเป็นเรื่องที่ง่ายอย่างมาก โดยพาเด็กไปพบจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรทุก 2 ปี เพื่อทำการตรวจวัดสายตาและการทำงานของดวงตา หากพบความผิดปกติทำการแก้ไขและป้องกัน และหมั่นสังเกตการใช้สายตาของเด็กที่อาจผิดปกติ เช่น

-    ดูทีวี อ่านหนังสือ หรือใช้สมาร์ทโฟน ในระยะใกล้ตาผิดปกติ

-    มีนัยน์ตาขุ่นขาวกลางตาดำจากภาวะต้อกระจก

-    มีอาการตาเหล่ตาเข

-    นั่งเรียนในห้องแล้วมองกระดานที่คุณครูเขียนไม่ชัด

-    นำสมุดของเพื่อนมาลอก อาจเพราะมองกระดานไม่เห็น

-    ชอบหรี่ตามองโดยเฉพาะเมื่อหน้าคนหรือมองวัตถุระยะไกล

-    หลับตาหนึ่งข้างเพื่อช่วยให้มองเห็นได้ชัดขึ้น

-    เป็นต้น

ภาวะสายตาขี้เกียจเป็นการสูญเสียการมองเห็นที่ยากในการรักษาให้กลับมาเป็นปกติ หากเป็นแล้วเสมือนมีดวงตาเพียงข้างเดียว การดูแลรักษาดวงตาข้างที่ดีหลังจากนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เช่น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อดวงตา การสวมแว่นตาที่ทำจากวัสดุชนิด Safety lenses และการเลือกใช้เลนส์ที่สามารถป้องกันรังสียูวีได้อย่างดี