ความสามารถในการมองเห็นของดวงตามนุษย์ : ที่มา ความหมาย และวิธีการวัดความสามารถในการมองเห็น

8 ธันวาคม 2559

คนส่วนใหญ่อาจจะพอทราบบ้างว่าเรามีสายตาเป็นแบบใด เช่น สายตาสั้น 200 สายตายาว 100 หรือเอียง 50 ซึ่งได้จากการวัดด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ แต่น้อยคนมากที่จะทราบว่าตาของเรามีความสามารถในการมองเห็นจริงเป็นอย่างไร ซึ่งความสามารถในการมองเห็นของเราจะเป็นตัวบ่งบอกหนึ่งถึงความจำเป็นของในการแก้ไข ถ้ามี

นักดาราศาสตร์ในยุคแรกๆ สังเกตพบว่าด้วยตาเปล่าของคนส่วนใหญ่ มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถแยกดาวสองดวงบนท้องฟ้าที่อยู่ใกล้กันได้ หากดาวสองดวงนั้นทำมุมกับระยะทางที่มาถึงบนพื้นโลกอย่างน้อย 1 minute of arc หรือ 1 ใน 60 ส่วนของมุมองศา แต่หากดาวสองดวงที่อยู่ห่างกันทำมุมน้อยกว่า 1 minute of arc แล้ว คนส่วนใหญ่จะมองเห็นเป็นเพียงดาวหนึ่งดวงเท่านั้น ดังนั้น 1 minute of arc จึงเป็นที่มาของความสามารถในการมองเห็นที่ปกติของคนส่วนใหญ่นั้นเอง

ในทางคลินิกความสามารถในการมองเห็นของมนุษย์ (Visual acuity) หมายถึง กำลังหรือความสามารถของดวงตาในการแยกวัตถุสองชิ้นที่อยู่ห่างกันน้อยสุดให้ออกจากกันได้ของดวงตา หรือในอีกความหมายคือความสามารถของดวงตาในการมองเห็นช่องว่าง (Gap) ที่น้อยที่สุดระหว่างวัตถุสองชิ้นที่อยู่ใกล้กัน โดยอยู่ในสภาวะที่ดวงตาไม่มีการใช้กำลังการเพ่งนั้นเอง

ในทางปฏิบัติการวัดความสามารถในการมองเห็นนั้น เป็นการวัดความสามารถในการมองเห็นที่ได้คำนวณเทียบออกมาเป็นระยะทางที่ใช้ในหน่วยของเมตรหรือฟุต โดยหากสามารถอ่านตัวอักษรที่ออกแบบพิเศษที่มีขนาดช่องว่าง (Gap) ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 minute of arc ที่ระยะ 6 เมตร หรือ 20 ฟุตได้ ถือว่าคนนั้นมีความสามารถในการมองเห็นที่ปกติ (ระยะห่าง 20 ฟุต ดวงตาจะเหลือกำลังการเพ่งที่น้อยมาก และมากพอที่จะใช้เพื่อกำหนดกำลังเลนส์ขั้นต่ำสุดในมาตรฐานปัจจุบัน)

การวัดความสามารถในการมองเห็นต้องการอุปกรณ์สองชิ้นคือ แผ่นมาตรฐาน Snellen chart สำหรับระยะวัดที่ 6 เมตร และอุปกรณ์สำหรับปิดตา ขั้นตอนคือ

-    ติดแผ่นวัดที่ผนังระยะห่าง 6 เมตร หรือ 20 ฟุต ในระดับสายตาและมีแสงสว่างที่มากพอ
-    ปิดตาซ้ายด้วยไม้ปิดตา อ่านด้วยตาขวาไล่ลงมาจากบนสุดลงมาที่บรรทัดเล็กสุดที่สามารถอ่านได้
-    บันทึกระดับความสามารถในการมองเห็นตามสัดส่วนตัวเลขระยะทางที่แสดงไว้ด้านข้างของบรรทัด เช่น 20/40 หรือ 20/100
-    กรณีอ่านผิดในบางตัวอักษรของบรรทัดนั้น ให้เพิ่มการบันทึก โดยใส่เครื่องหมายบวกหน้าจำนวนที่อ่านได้เพิ่มจากบรรทัดก่อนหน้า และเครื่องหมายลบหน้าจำนวนที่อ่านไม่ได้ในบรรทัดนั้นๆ ของจำนวนที่ต่ำกว่า เช่น หากในแถว 20/20 มี 5 ตัวอักษร แต่อ่านผิดไป 3 ตัว ให้บันทึกเป็น 20/25+2 หรืออ่านผิดไป 2 ตัว ก็บันทึกเป็น 20/20-2 เป็นต้น
-    ทำเช่นเดียวกันในตาข้างขวา

การแปลผลค่าความสามารถในการมองเห็น เช่น

-    20/40 หมายความว่า ขนาดอักษรอ่านได้ที่ 20 ฟุต คนส่วนใหญ่จะอ่านได้ที่ระยะ 40 ฟุต แสดงว่ามีความสามารถในการมองเห็นด้อยกว่าคนส่วนใหญ่

-    20/20 หมายความว่า ขนาดอักษรอ่านได้ที่ 20 ฟุต คนส่วนใหญ่จะอ่านได้ที่ระยะ 20 ฟุตเช่นเดียวกัน แสดงว่ามีความสามารถในการมองเห็นที่เท่ากับคนส่วนใหญ่หรือปกติ

-    20/15 หมายความว่า ขนาดอักษรอ่านได้ที่ 20 ฟุต คนส่วนใหญ่จะอ่านได้ที่ระยะ 15 ฟุต แสดงว่ามีความสามารถในการมองเห็นดีกว่าคนส่วนใหญ่

เนื่องจากความสามารถในการมองเห็นจะแปรผันตรงกับขนาดของช่องว่างบนตัวอักษรและระยะทาง ทำให้เราสามารถทำการเปรียบเทียบกันความสามารถในการมองเห็นกับคนอื่นๆ ได้ เช่น ความสามารถในการมองเห็นที่

-    20/40 เทียบได้กับความสามารถในการมองเห็นที่ด้อยกว่าคนปกติประมาณครึ่งหนึ่ง (20/40 = 0.5X)

-    20/15 ก็หมายความว่ามีความสามารถในการมองเห็นดีกว่าคนปกติประมาณ 1.3 เท่า (20/15 = 1.3X)

จะเห็นได้ว่าที่กล่าวมาข้างต้นเรายังไม่ได้พูดถึงค่าสายตา เช่น สั้น 200 ยาว 100 หรือเอียง 50 นั้น หมายถึงกำลังเลนส์ที่ต้องการเพื่อแก้ไขให้ความสามารถในการมองเห็นที่ด้อยกว่าปกติ (สาเหตุจากปัญหาความผิดปกติในเรื่องการหักเหแสงของดวงตาเท่านั้น) ให้กลับมามีความสามารถในการมองเห็นเป็นปกตินั้นเอง ดังนั้นเมื่อเราทราบว่าความสามารถในการมองเห็นของเราที่ไม่ปกติจากการวัดข้างต้น หน้าที่ต่อไปจึงเป็นของนักทัศนมาตรในการวัดหาค่าสายตาที่ถูกต้องออกมา แล้วจึงนำค่าสายตาที่ได้นั้นไปสั่งผลิตเลนส์เพื่อใช้ในการแก้ไขให้การมองเห็นนั้นกลับมาเป็นปกตินั้นเอง