ทำไมเราจึงมีสองตา : การมองเห็นสองตาและประโยชน์ที่แท้จริง (Binocular vision and benefits)

23 เมษายน 2560

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมเราจึงมีสองตา เหตุผลที่สำคัญของการมีสองตานั้นคือ ความจำเป็นในการสำรองไว้หนึ่งข้างเพราะดวงตาเรามีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการเจริญเติบโตในวัยเด็ก มีหลักฐานว่าพัฒนาการของดวงตามนุษย์เริ่มต้นในสัปดาห์ที่สามหลังการปฏิสนธิ และพัฒนาจนเกือบสมบูรณ์ก่อนจะคลอดเป็นทารก

มนุษย์มีโครงสร้างดวงตาที่เรียกว่า Frontal eye มีสนามภาพรวมสองตาประมาณ 180 องศา มีสนามภาพทับซ้อนกันตรงกลางตาถึง 120 องศา และมีเพียง 30 องศาด้านข้างทั้งสองเท่านั้น ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาแต่ละข้าง ดังนั้นจะพบว่าหากสูญเสียตาหนึ่งข้างเราจะสูญเสียสนามภาพเพียง 30 องศา หรือ 1 ใน 6 ของสนามภาพรวมเท่านั้น ทำให้การมีสองตาไม่เกิดประโยชน์ในด้านของสนามภาพเท่าไรนัก (แต่จะสูญเสียส่วนสนามภาพที่ทับซ้อนกันทั้งหมด)

จากการศึกษาพบว่าประโยชน์ที่ได้แท้จริงของการมีสองตาของมนุษย์ นอกจากการเป็นตาสำรอง คือ ความสามารถในการมองเห็นสามมิติ (Stereopsis) ที่เกิดจากการมีสนามภาพที่ซ้อนทับกันนั้นเอง เช่น ความสามารถในการกะระยะวัตถุต่างๆ ที่อ้างอิงจากตัวเรา และการทำงานระยะใกล้ที่ต้องการรายละเอียด เช่น ขับรถ งานประดิษฐ์ งานเย็บปักถักร้อย งานเจียรนัยเพชรพลอย งานหัตถการต่างๆ เป็นต้น

กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายเราที่ทำงานโดยไม่มีการหยุดพัก ทุกครั้งที่ลูกตาข้างหนึ่งเคลื่อนที่กล้ามเนื้อมัดหนึ่งจะเพิ่มการทำงาน และจะมีอีกมัดหนึ่งลดการทำงานลง (Agonist and antagonist) ตาทั้งสองจะทำงานประสานกันคล้ายสองล้อของเกวียน โดยมีคู่กล้ามเนื้อทำงานประสานงานกันให้ดวงตาทั้งสองเคลื่อนไปในทิศทางหนึ่งที่ต้องการ (Yoked muscles) ด้วยสัญญาณประสาทเพียงหนึ่งเดียว เมื่อจอตาทั้งสองข้างได้รับแสงจากวัตถุเซลรับภาพที่จอตา (Photorecepter) จะทำหน้าที่แปลงพลังงานแสงให้เป็นสัญญาณทางภาพ และถูกส่งตามเส้นประสาทไปจัดการเบื้องต้นที่สมองส่วน Lateral geniculate nucleus ก่อนที่จะส่งต่อไปที่ศูนย์การมองเห็น (Visual cortex or striate cortex) ที่อยู่บริเวณท้ายทอย เพื่อทำการประมวลสัญญาณภาพจากตาทั้งสองเขาด้วยกัน ก่อนที่จะส่งต่อสัญญาณที่ได้ขึ้นสู่สมองระดับขั้นสูงต่อไปเพื่อสั่งการทำงาน

อย่างไรก็ตาม การมีสองตาของเรานั้นมีข้อควรระวังอย่างหนึ่งก็คือ หากมีปัญหาทางสายตาข้างใดข้างหนึ่งอาจยากที่จะจับความผิดปกติได้ หรืออาจถูกละเลยเพราะยังมีตาอีกข้างหนึ่งที่ให้การมองเห็นที่ดีพอ ทำให้เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีสมองในเด็กจะตัดการรับรู้ภาพในตาข้างที่ด้อยกว่าทิ้งและนำไปสู่ปัญหาภาวะสายตาขี้เกียจ (Lazy eye) ดังนั้นการได้รับการตรวจสายตาที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในช่วงวัยเด็ก มีความจำเป็นเพื่อป้องกันการสูญเสียดวงตาจากภาวะสายตาขี้เกียจ

ในคนที่สวมแว่นสายตาก็เช่นเดียวกัน แว่นสายตาจะต้องให้การมองเห็นของตาแต่ละข้างที่คมชัด และให้ความสามารถในการมองเห็นที่เท่าๆ กัน (ค่าสายตาสองข้างไม่จำเป็นต้องเท่ากันเสมอไป แต่เมื่อแก้ไขด้วยแว่นตาแล้วต้องให้ความสามารถในการมองเห็นที่เท่ากัน) เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะการใช้กำลังการเพ่งที่ไม่สมดุล และ เกิดความไม่สบายตาในการใช้งานแว่นสายตานั้นเอง