เลนส์ปริซึม : คืออะไร ประโยชน์ และ การใช้งานเลนส์ปริซึม

28 September 2018

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่าเลนส์ปริซึมมาบ้างหรือบางคนอาจมีใช้อยู่ เรามาดูกันว่าเลนส์ปริซึม หรือ Ophthalmic prism lenses คืออะไร ประโยชน์ และการใช้งานเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำว่าปริซึมกันก่อน ปริซึมคือวัสดุโปร่งใสที่มีด้านเรียบสองด้านพิงทำมุมกันเป็นมุมยอด และมีด้านตรงข้ามเป็นฐานปริซึม คุณสมบัติทางแสงของปริซึมประกอบด้วย

-    การแบนทิศทางแสง
-    การย้ายภาพวัตถุ
-    การแยกความยาวคลื่นหรือสีของแสงสีขาว

เลนส์ปริซึมจะใช้ประโยชน์ทางด้านการเบนทิศทางแสงและการย้ายภาพสำหรับแว่นตา ด้วยหลักการว่าแสงขาออกจากปริซึมจะเบนเข้าหาด้านฐานและภาพที่เกิดขึ้นจะเบนเข้าหาด้านยอดปริซึม

เลนส์ปริซึมคือเลนส์สายตาที่โครงสร้างทั้งค่าสายตาและปริซึมร่วมกัน กล่าวคือมีทั้งค่าสายตาที่ทำให้มองเห็นชัด และ มีคุณสมบัติของปริซึมร่วมด้วย ดังนั้นเลนส์ปริซึมจึงให้คุณสมบัติทางแสง คือ

- เลื่อนจุดรวมแสงเพื่อให้ได้รับภาพชัด (ถ้ามี)
- เบนแสงตามทิศทางของดวงตาที่ต้องการ และ
- ย้ายภาพไปยังทิศทางที่ต้องการ

เลนส์ปริซึมใช้แก้ไขในคนที่มีปัญหาทำงานของกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาที่ผิดปกติ การเคลื่อนไหวของสองตาที่ไม่สอดรับกัน หรือกำลังกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวลูกตาเพื่อรวมภาพสองตาไม่เพียงพอ อาการที่พบได้แก่

-    การมองเห็นภาพซ้อนตลอดเวลาหรือในบางเวลา เป็นอาการบ่งชี้ที่สำคัญ
-    มีภาวะตาเหล่ ตาเข ที่สังเกตได้หรือซ้อนเร้น
-    ไม่สบายตาในการใช้สายตา ปวดศีรษะ ปวดตาร่วม

เมื่อตาแต่ละข้างได้รับแสงจากวัตถุต่างชิ้นกัน ทำให้ภาพที่เกิดขึ้นบนจอตาแต่ละข้างไม่เหมือนกัน จึงทำให้เกิดอาการมองเห็นเป็นภาพซ้อนนั้นเอง เลนส์ปริซึมจะทำการเบนแสงจากวัตถุให้แสงนั้นตกลงที่จอตาทั้งสองทำให้มองเห็นเป็นภาพเดียว อาการมองเห็นภาพซ้อนจึงได้รับการแก้ไขนั้นเอง

การเปลี่ยนแว่นสายตาคู่ใหม่ทุกครั้ง ดวงตาจะได้รับปริซึมโดยไม่ตั้งใจไม่มากก็น้อย ระบบเพ่งและการเคลื่อนไหวเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ดวงตาจึงต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับแว่นนั้น ดังนั้นหากทำการวัดก็อาจจะพบการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งและดวงตาปรับตัวเข้ากับแว่นคู่ใหม่ได้แล้วก็จะกลับมาที่เดิม ดังนั้นหากไม่มีอาการนำมาก่อนหน้าจึงไม่จำเป็นต้องทำการแก้ไขด้วยเลนส์ปริซึม

การเลือกใช้ปริซึมนั้นจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถ เพราะเป็นโรคทางด้านกล้ามเนื้อส่วนเคลื่อนไหวลูกตานอกเหนือจากปัญหาสายตาด้านการหักเหแสง จึงต้องใช้ความรู้ทางกายวิภาคและสรีรวิทยาของดวงตาในการตรวจวัด วินิจฉัย และให้การรักษาแก้ไขด้วยเลนส์ปริซึม ดังนั้นหากมีอาการบ่งชี้ของการมองเห็นภาพซ้อนจึงควรไปพบจักษุแพทย์หรือนักทัศนมาตรก่อนที่จะทำการตัดแว่นสายตาด้วยเลนส์ปริซึม