NIGHT MYOPIA: ภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืน

26 มิถุนายน 2563

ภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืน หรือ ที่เรียกว่า Night myopia นั้น ได้มีการศึกษากันมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงสาเหตุที่ทำให้การมองเห็นแย่ลงในที่มืด ในปัจจุบันทฤษฎีที่ใช้อธิบายได้ดีในการเกิดภาวะสายตาสั้นในตอนกลางคืนก็คือในเรื่องของ Tonic Accommodation

Tonic Accommodation คือ Resting focus of accommodative state เป็นภาวะพักของระบบเพ่งเมื่อระบบประสาทอัตโนมัติของการเพ่งอยู่ในภาวะสมดุล เพราะขาดโครงร่างภาพของวัตถุบนจอตาที่ดีพอที่จะไปกระตุ้นการทำงานของระบบเพ่ง ภาวะ Tonic accommodation นี้ ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นขึ้นได้ในสถานการณ์เหล่านี้

1.    Night myopia หรือ ภาวะสายตาสั้นเมื่ออยู่ในที่มืดหรือตอนกลางคืน

2.    Space myopia หรือ ภาวะสายตาสั้นเมื่อมองที่โล่งหรือท้องฟ้า

3.    Instrument myopia หรือ ภาวะสายตาสั้นเมื่อมองกล้องจุลทรรศน์

ภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืน หรือ Night myopia ในคนทั่วไปอาจจะไม่มีผลกระทบมากนัก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ระบบนาฬิกาชีวิตของมนุษย์ (Biological clock) ต้องการให้ร่างกายได้พักผ่อน ภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืนจึงเป็นภาวะปกติ หรือ Physiological of resting of accommodation ของมนุษย์เมื่ออยู่ในที่มืด ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นในตอนกลางคืน หรือ Tonic accommodation นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน คือ Optical และ Sensory components

1.    Optical components

ส่วน Optical components จะประกอบด้วยการขยายของรูม่านตา และ ผลของ Spherical Aberration ในสภาวะที่มีแสงน้อยรูม่านตาเราจะเปิดกว้างขึ้นเพื่อปรับเพิ่มปริมาณแสงเข้าสู่ดวงตาทำให้การมองเห็นดีขึ้น ส่วน Spherical aberration นั้นคือผลของแสงที่เดินทางผ่านวัสดุใสผิวโค้งเดียวของกระจกตา โดยแสงจากจุดที่อยู่ห่างจากศูนย์กลางของกระจกตาจะหักเหใกล้กว่าแสงที่อยู่ใกล้จุดศูนย์กลางของกระจกตา
ยิ่งรูม่านตาเปิดกว้างมากเท่าไร แสงจากวัตถุที่อยู่บริเวณขอบไกลของกระจกตา เมื่อหักเหแล้วจะตกใกล้กระจกตามากยิ่งขึ้น ซึ่งแสงนั้นก็จะห่างจากจอตามากขึ้นทำให้ขนาดของ Blur circle ที่จอตาใหญ่ขึ้น ภาพที่สมองได้รับก็จะเบลอมากขึ้น ดังนั้นการเปิดกว้างของรูม่านตาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลของ Spherical Aberration ยิ่งสูงขึ้น ความคมชัดของภาพวัตถุที่มองเห็นก็จะแย่ลง

2.    Sensory components

Sensory components จะประกอบด้วยปรากฏการณ์ของ Purkinje shift ร่วมกับ Chromatic aberration เซลรับภาพ (Photoreceptors) ที่จอตาจะมีความไวต่อแสงที่ความยาวคลื่นแตกต่างกันในสภาวะที่มีปริมาณแสงต่างกัน ในสภาวะที่มีแสงสว่างปกติ (Photopic) เซลรับภาพจะมีความไวต่อแสงสูงสุดที่ความยาวคลื่น 555นาโนเมตร ขณะที่ในภาวะที่มีแสงน้อย (Scotopic) เซลรับภาพจะมีความไวต่อแสงที่มีความยาวคลื่นที่สั้นกว่าคือ 510 นาโนเมตร เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Purkinje shift

ส่วน Chromatic aberration เป็นปรากฏการณ์ที่แสงเมื่อเดินทางผ่านวัสดุใสโค้งเดียวของกระจกตา แสงขาวนั้นจะแยกออกเรียงตามลำดับของความยาวคลื่น โดยแสงที่มีความยาวคลื่นสั้น เช่น แสงสีน้ำเงิน จะตกใกล้กว่าแสงที่มีความยาวคลื่นที่ยาวกว่า เช่น แสงสีแดง
ทั้ง Optical และ Sensory components ที่ทำให้แสงความยาวคลื่นสั้นตกหน้าจอตาและดวงตาที่มีความไวต่อแสงความยาวคลื่นสั้นในที่มืดนั้น ผลเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืนได้ถึง -0.75 D ทำให้ภาพที่เกิดขึ้นบนจอตาไม่ดีพอที่จะไปกระตุ้นให้ระบบเพ่งของดวงตาทำงานได้ จึงเกิดภาวะของ Tonic accommodation ขึ้น

ภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืนที่เกิดขึ้นในอดีตอาจจะไม่มีผลกระทบต่อเรา เพราะกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเวลากลางวัน แต่ในปัจจุบันที่มีการใช้ชีวิตยาวนานมากขึ้นในแต่ละวัน ทำให้พบปัญหาของสายตาสั้นตอนกลางคืนได้มากขึ้น และในบางคนที่มีอาชีพที่ต้องการการมองเห็นที่ดีขึ้นในตอนกลางคืน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาสั้นตอนกลางคืนนั้น
หลักการการแก้ไข Night myopia ในคนที่แสดงอาการ

1.    ต้องให้เวลากับคนไข้ในการปรับตัวเข้ากับห้องตรวจที่มืดอย่างน้อย 5 นาที เพื่อให้สายตาปรับเข้ากับสภาวะมืด และแสดงอาการของภาวะสายตาสั้นตอนกลางคืน (Dark adaptation)

2.    การตรวจหาค่าสายตาสั้นตอนกลางคืนต้องลดแสงที่แผ่นทดสอบลง และใช้เลนส์กรองแสงบนแว่นทดสอบเพื่อให้ได้ค่าสายตาสั้น Night myopia ที่ถูกต้อง

3.    Night myopia ทั่วไปจะมีค่าสายตาสั้นอยู่ที่ -0.50 ถึง -0.75 D ค่าสายตาสั้นที่มากกว่า -1.00 D อาจจะมาจากสาเหตุอื่นๆ

4.    คนที่มีปัญหาในการมองเห็นตอนกลางคืนส่วนใหญ่ เป็นคนที่มีค่าสายตาในตอนกลางวันแต่ไม่ได้รับการแก้ไขค่าสายตาที่มีแม้เพียงเล็กน้อยก็จะทำให้การมองเห็นแย่ลงได้มากในสภาวะที่มีแสงน้อย

5.    การเลือกใช้เลนส์แว่นตาที่เคลือบมัลติโคทจะช่วยเพิ่มปริมาณแสงเข้าสู่ดวงตาได้มากขึ้นในตอนกลางคืน และลดแสงสะท้อนต่างๆ ได้ดี

6.    การเลือกใช้เลนส์ย้อมสีเหลืองจะช่วยเพิ่มความสว่าง ลดแสงสะท้อนต่างๆ และลดผลของ Chromatic aberration ได้ดี ทำให้การมองเห็นในตอนกลางคืนดีขึ้น แต่จะทำให้การมองเห็นสีผิดปกติจึงควรระมัดระวังในการเลือกใช้กับงานที่เหมาะสม

7.    อาการสายตาสั้นตอนกลางคืนอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเลนส์แก้วตาที่เริ่มเข้าสู่ภาวะต้อกระจกได้เช่นกัน

8.    โรคตาบอดตอนกลางคืน หรือ Night blindness เป็นอาการผิดปกติอย่างหนึ่งของการมองเห็นโดยเฉพาะในตอนกลางคืน สาเหตุอาจเกิดจากเซลรับแสงชนิด Rod ที่ทำงานตอนกลางคืนบกพร่อง การขาดสารอาหารอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวิตามิน A การได้รับยารักษาต้อหินบางชนิดที่ทำให้รูม่านตาหด หรือ เป็นโรคตา Retinitis pigmentosa
 



นายวิชัย ลัคนาทิน
นักทัศนมาตร, O.D.


หนังสืออ้างอิง

Clyde W. Oyster, The human eye: structure and function, 1990

Douglas G. Horner, Physiological optic III: ocular motility